เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)เปิดเผยภายหลังการเป็นประธาน เปิดการประชุมชี้แจงที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกลุ่มสถานศึกษาภาคใต้ ซึ่งมี คณะผู้บริหาร หัวหน้างานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หัวหน้างานพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และหัวหน้าแผนกวิชา ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมคริสตัล จังหวัดสงขลา ว่า พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เขียนไว้ชัดเจนว่าให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จัดการศึกษาได้ใน 3 รูปแบบ คือ การจัดการศึกษาในระบบ การจัดการศึกษานอกระบบ และการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่ง การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี สอศ.ได้จัดมาตั้งแต่ 2551 แล้ว  แต่ตัวเลขผู้ที่เข้ามาเรียนในระบบทวิภาคีปัจจุบันยังต่ำอยู่ มีเพียง 15% เท่านั้น สอศ.จึงมาวิเคราะห์ดูว่า สาเหตุที่มีผู้มาเรียนน้อยเกิดจากอะไร ทำไมมีนักเรียน นักศึกษามาเรียนในระบบทวิภาคีตัวเลขยังน้อยอยู่

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าสาเหตุที่มีคนมาเรียนในระบบทวิภาคีตัวเลขยังน้อยอยู่ อาจเกิดจากแนวคิดของผู้บริหาร ครูผู้สอน หัวหน้างานทวิภาคีของวิทยาลัยยังติดกับดัก ว่านักศึกษายังต้องเรียนอยู่ในวิทยาลัย ซึ่งเรื่องนี้เราต้องมาเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ดังนั้นวันนี้ตนจึงได้มาให้นโยบาย จุดประเด็นว่าเราต้องปรับแนวคิดใหม่ ว่า การจัดการอาชีวศึกษาในอนาคต จะไม่จัดการศึกษาเฉพาะในวิทยาลัยเท่านั้น  แต่เราต้องเดินไปหาสถานประกอบการ เพื่อให้มาจัดการศึกษาร่วมกัน และต้องยอมรับว่าสถานประกอบการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวหน้ากว่าอาชีวศึกษาอยู่เยอะ ถ้าเรายังให้เด็กเรียนอยู่เฉพาะในวิทยาลัยเด็กก็จะไม่ทันยุคสมัยปัจจุบัน ไม่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ดังนั้นระบบทวิภาคีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการจัดการอาชีวศึกษา ทุกวิทยาลัยจะต้องขยับตัวเลขการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคีให้สูงขึ้นและต้องเป็นทวิภาคีที่มีคุณภาพด้วย

“ผมจะไม่เน้นเรื่องปริมาณ ถ้าตัวเลขระบบทวิภาคีขยับสูงขึ้นแต่เด็กไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้ จะต้องทำคู่ขนานกันไปคือ จำนวนนักศึกษาเข้าไปเรียนในระบบทวิภาคีสูงขึ้นและต้องมีคุณภาพสูงขึ้นด้วย เพราะวิสัยทัศน์ของการอาชีวศึกษาคือต้องสร้างคนที่มีสมรรถนะสูง ดังนั้นวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศที่มีกว่า 800 แห่ง จะต้องเปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีที่ปริมาณและคุณภาพสูงขึ้นด้วย”ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ตนยังได้ไปดูอาคารอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ ของวิทยาลัยประมงตินสูลานนท์ ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา ที่ตนได้จัดงบประมาณให้ไปปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนตั้งใจว่าจะให้เป็นแหล่งสาธิตเพาะเลี้ยงปลา ให้เด็กที่เรียนประมง และเด็กที่เรียนในระบบทวิภาคีด้านอาหารมาเรียนรู้ มาฝึกให้เป็นต้นแบบที่อนุบาลปลา ส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในจังหวัดสงขลามาเรียนรู้ด้วย และได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยประมงตินสูลานนท์ ประสานกับภาคเอกชนเข้ามาทำความร่วมมือเพื่อจัดการศึกษาในระบบทวิภาคีด้วย

เลขาธิการ กอศ.กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ การจัดการอาชีวศึกษามีความสำคัญ เพราะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาวการณ์แข่งขันปัจจุบันและ อนาคตจำเป็นต้องมีกำลังแรงงานในประเทศที่มีคุณภาพการอาชีวศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตกำลังคนสู่งานอาชีพจึงต้องมีการพัฒนาให้ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต และ หรือบริการโดยหลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น ง่ายต่อการปรับเปลี่ยน ให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนต้องเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการการเรียนด้วยการปฏิบัติจริงและการประเมินตามสภาพจริงตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ของวิทยาลัยให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ผู้เรียน และตรงตามเป้าหมายของหลักสูตร วันนี้ต้องขอชื่นชม ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการทุกฝ่าย ที่ได้จัดโครงการประชุมชี้แจงที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2566 ของกลุ่มสถานศึกษาภาคใต้ ที่สอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นช่างฝีมือและช่างเทคนิคเต็มรูปแบบ มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผลิตคนเพื่อรองรับองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งหากร่วมใจกันทำแล้ว ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง,เศรษฐกิจไทยจะเติบโตรวมทั้งมีบุคลากรที่มีศักยภาพมากขึ้นด้วย

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments