เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับแจ้ง จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้พิพากษากรณีข้าราชการ ระดับ 8 ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัด ศธ. และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต อาศัยโอกาสที่มีหน้าที่ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินของกองทุนฯให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่เป็นผู้ยากไร้ ขาดแคลนทุนทรัพย์ศึกษา จัดทำเอกสารขออนุมัติและ ระบุรายละเอียดหมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นเท็จ โดยมีน้องชาย จำเลยที่2 และอดีตลูกจ้าง ศธ. จำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ทำให้สำนักงานปลัด ศธ. หลงเชื่อ เบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นญาติและคนรู้จักของผู้ถูกูกล่าวหาซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนฯ มากกว่า 30 คน รวมจำนวน 35 ครั้ง ระหว่างเดือน พฤษภาคม 2548 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นเหตุให้นักเรียน นักศึกษาได้รับความเดือดร้อนและ ศธ.ได้รับความเสียหายเกือบ 100 ล้านบาท โดยคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาชี้มูลความผิดทางอาญากับผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวและส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีอาญา
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษา สรุปว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดจำนวน 35 กรรม เป็นความผิด ตามมาตรา 157 มาตรา 162(4) ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา123/ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 รวมทุกกระทงความผิดให้ลงโทษจำคุก 93 ปี 279 เดือน สำหรับ จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 34 ปี 102 เดือน และ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานผู้สนับสนุน ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน ศาลไม่รอการลงโทษ และให้จำเลยทั้งสามคน ร่วมกันชดใช้เงินให้กับผู้เสียหาย ที่ยังไม่ได้ชดใช้คืนจำนวน 64 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย โดยในวันอ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 3 รายได้เข้าฟังคำพิพากษาด้วย และถูกจำคุกตามคำสั่งศาลทันที
“ในส่วนของศธ.จากนี้รอคัดคำสั่งศาล เพื่อดำเนินการกับจำเลยทั้ง 3 คน และเตรียมใช้มาตรการทางปกครอง ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ ของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าหน้าที่ และผู้ทุจริต โดยตรง ทั้งนี้ การทุจริตดังกล่าว จำเลยที่1 ให้การสารภาพ ว่า ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชา แต่จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่การเงิน ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯในขณะนั้น โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องถูกดำเนินการทางการปกครอง เพื่อร่วมชดใช้ความเสียหายต่อไป จากนี้ศธ. จะต้องเสนอเรื่องทั้งหมดให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ เพื่อดูรายละเอียดว่า แต่ละคนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายรายละเท่าไร” ปลัดศธ. กล่าวและว่า ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนฯ โดยให้กองบริหารการคลัง สำนักงานปลัด ศธ. ดูแล บริหารจัดการเงินกองทุนเสมาฯ และส่งเงินถึงเด็กโดยตรง โดยปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท ใช้ดอกผล ปีละ 8-12 ล้านบาท ในการให้ทุนการศึกษาเด็ก 200 คน
สำหรับกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เริ่มต้นในปี 2537 ใช้เงินประเดิมจากสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 600 ล้านบาท ต่อมามีการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลและเงินบริจาคสบทบเข้ามาหมุนเวียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น กำพร้า ยากจน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร หรือถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณีหรือเด็กตกเขียว สนับสนุนการศึกษาให้เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น และ ม.ปลาย หรือเทียบเท่าที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสได้เรียนต่อ เริ่มต้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และขยายให้ทุนกับสถาบันการศึกษาที่สอนด้านพยาบาล โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ กลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และกลุ่มวิทยาลัยพยาบาล
การทุจริตครั้งนี้ถูกตรวจสอบพบในปี 2561 โดยข้าราชการชั้นผู้น้อย จากกลุ่มตรวจสอบภายในของสำนักปลัดศธ. ซึ่งทำการตรวจสอบบัญชีงบประมาณ 2560 ตามปกติ แต่ไปพบพิรุธ จากเอกสารการจัดทำบัญชีกองทุนฯและรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2560 ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกองทุนฯ คือ สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัด ศธ. ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พ.ศ.2550 คือ ระบบกำหนดให้ผู้รับทุนฯเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคาร โดยใช้คำว่า *”กองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของ…(ชื่อผู้รับทุน)”* แต่พบว่ามีการเปิดบัญชีในนามสถานศึกษา มีการอนุมัติจ่ายเงินให้วิทยาลัยบรมราชชนนีต่าง ๆ แต่ใช้หมายเลขบัญชีเดียวกัน และหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน ของทุนการศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์แห่งหนึ่ง ที่ชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่ตรงกับชื่อผู้รับทุน นำมาสู่การตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้พบว่ามีการยักยอกเงินทุนการศึกษาเด็กเกิดขึ้นกว่า 10 ปี