ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 5 ก.พ.62 ครม.ได้มีมติ รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมาตรการดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ต่อไป โดยให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย ทั้งนี้ตนได้มอบให้สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แล้ว โดยจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ด กพฐ.ในวันที่ 8 ก.พ.นี้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำหรับ สาระสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะต่อ ครม.เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ดังนี้
- ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
1.1 ควรพิจารณาดำเนินการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปรับปรุงระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันและให้คำนึงถึงความจำเป็นตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สภาพทางเศรษฐกิจ และที่ตั้งของสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้แต่ละสถานศึกษามีทรัพยากรที่เพียงพอ สามารถนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพการศึกษา
1.2 ควรพิจารณากำหนดให้แต่ละสถานศึกษาดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนการบริหารจัดการและการดำเนินการจัดการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาให้มีการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นอย่างแท้จริงของแต่ละสถานศึกษา
1.3 ควรพิจารณากำหนดมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี เพื่อสนับสนุนการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและเพื่อสร้างการจูงใจให้มีการระดมทรัพยากรในรูปของเงินบริจาค โดยมุ่งเน้นให้ผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนที่มิใช่โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงหรือโรงเรียนที่มีความขาดแคลนหรือด้อยโอกาสห่างไกลความเจริญ หรือโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้รับสิทธิทางด้านภาษีมากกว่าปกติที่กำหนด ณ ปัจจุบัน รวมทั้งกรณีที่บริษัทเอกชนบริจาคสิ่งของและวัสดุอุปกรณ์แทนเงินสด เห็นควรให้ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนการเสียภาษีได้ด้วย โดยให้กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนมาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นมาตรการจูงใจในการบริจาคและกระจายทรัพยากรไปสู่สถานศึกษาต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
1.4 ควรพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการและสนับสนุนด้านงบประมาณ ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- ข้อเสนอแนะต่อ สพฐ.
2.1 พิจารณายกเลิกหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบการสอบคัดเลือกการรับนักเรียนอย่างยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาการฝากเด็กเข้าเรียนโดยเรียกรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ตอบแทน
2.2 เห็นควรให้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ นักเรียนทั่วไป และนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ตามประกาศของ สพฐ. เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัด สพฐ. ให้มีความชัดเจน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้ศึกษาต่อยังสถานศึกษาใกล้บ้านและเพื่อสร้างความเข้า
2.3 เห็นควรให้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้มีความชัดเจนและมีความเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนิยามและคุณสมบัติของการเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ เช่น ระยะเวลาในการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน และกรณีมีการย้ายเข้ามาพักอาศัยในทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน อีกทั้งเห็นควรให้กำหนดนิยามความหมายของนักเรียนในเขตพื้นที่บริการให้ครอบคลุมถึงนักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครูและบุคลากรของโรงเรียนนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาในลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ และเป็นการป้องกันหรือลดการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ในการนี้ เพื่อให้ได้นักเรียนที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาและอาศัยอยู่ในพื้นที่จริง มิใช่มีเพียงแต่ชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้าน แต่มิได้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่ว และเพื่อให้กระบวนการการรับนักเรียนเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม สถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีมีการย้ายเข้ามาพักอาศัยในทะเบียนบ้านซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนแต่ละแห่ง
นอกจากนี้ เห็นควรให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ปกครองนักเรียน และประชาชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงความผิดและบทลงโทษกรณีการปลอมแปลงเอกสารและการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
2.4 เห็นควรให้กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานกลางสำหรับการประกาศผลการคัดเลือกนักเรียน การประกาศผลการสอบ คะแนนการสอบ โดยเรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้ของนักเรียนที่เข้าสอบทุกคน เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งภายใต้สังกัด สพฐ. ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและมีกระบวนการรับนักเรียนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม และเสมอภาค และในกรณีที่สถานศึกษามีการรับนักเรียนเพิ่มเติมไม่ว่าในกรณีใด ให้ดำเนินการเรียกรับนักเรียนตามประกาศผลการสอบที่ได้เรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้ ทั้งนี้ ให้ทุกสถานศึกษาต้องประกาศผลการสอบโดยเรียงตามลำดับคะแนนสอบของผู้เข้าสอบแข่งขันทุกคน โดยเปิดเผยอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ
2.5 เห็นควรกำหนดให้ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการแจ้งค่าใช้จ่าย และรายละเอียดการเก็บเงินบำรุงการศึกษาไว้ในประกาศการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อของแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนได้รับทราบไว้โดยชัดเจน โดยจะเป็นมาตรการป้องกันมิให้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาเกินอัตราที่กำหนด และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาและการใช้จ่ายเงินบำรุงการศึกษาต้องเป็นไปตามระเบียบราชการโดยเคร่งครัด
2.6 ควรกำหนดนโยบายด้านการจัดการศึกษา รวมทั้งระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนให้มีความชัดเจน พร้อมทั้งซักซ้อมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
2.7 เห็นควรให้มีการประกาศห้ามมิให้สถานศึกษาดำเนินการเอื้อประโยชน์ โดยให้สิทธิพิเศษหรือโควตาแก่สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า หรือสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา ในลักษณะที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการฝากเด็กเข้าเรียนหรือในลักษณะการมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน
- ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
3.1 ควรเร่งรัดการดำเนินการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้มีการดำเนินการจัดสรรงบประมาณทางด้านการศึกษาโดยพิจารณาและคำนึงถึงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนในระดับรองและโรงเรียนในส่วนภูมิภาคให้สามารถเพิ่มศักยภาพและคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น และให้มีการสร้างแรงจูงใจหรือมาตรการสนับสนุนให้บุคลากรครู อาจารย์ที่มีศักยภาพสูงในสาขาวิชาการต่าง ๆ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนที่กำลังพัฒนา เพื่อให้มีการกระจายบุคลากรครูและอาจารย์ที่มีศักยภาพไปทำการสอนยังโรงเรียนในส่วนภูมิภาคให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนเกิดความรู้สึกไว้วางใจและเชื่อมั่นในคุณภาพการจัดการศึกษาในการที่จะส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในระดับรองลงมา และเป็นการแก้ไขปัญหาการแย่งกันเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการประเมินคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนด้วย
3.2 เห็นควรให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ผู้ปกครองนักเรียนและประชาชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงความผิดและบทลงโทษกรณีการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาค แต่ถือว่าเป็นเรื่องของ “สินบน” ในฐานะผู้รับสินบนกับผู้ให้สินบน ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช.
3.3 เห็นควรให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ สพฐ. ในการพิจารณากำหนดแนวทางหรือมาตรการการตรวจสอบภายใน เพื่อให้กลไกการตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับการรับนักเรียนของโรงเรียนทั่วประเทศเป็นไปตามนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนโดยเคร่งครัด โดยให้มีการดำเนินการตรวจสอบขั้นตอนการรับนักเรียนทั้งก่อนการรับนักเรียน ช่วงที่มีการรับนักเรียน และภายหลังการรับนักเรียน และมอบหมายให้หน่วยงานด้านกำกับดูแลในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและในระดับจังหวัด ได้แก่ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด คณะกรรมการรับนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และสร้างการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่ รวมทั้งจัดทำแผนการดำเนินการร่วมกันในระดับจังหวัดเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรับนักเรียนโดยการกำหนดมาตรการป้องกัน ป้องปราม ที่จะไม่ให้เกิดปัญหาเด็กฝากและการรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการรับนักเรียนเข้าเรียนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีการจัดทำแผนการดำเนินการร่วมกันในการสุ่มตรวจสอบการรับนักเรียนของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเป็นกลไกการควบคุมดูแลตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
3.4 เห็นควรให้มีการสุ่มตรวจสอบรายได้ของสถานศึกษา ทั้งก่อนและหลังช่วงเวลาการรับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบเงินบริจาคของสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบและป้องปรามปัญหาการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ในการเข้าเรียน รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายรับ – รายจ่ายของแต่ละสถานศึกษา ข้อมูลการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่สถานศึกษา และจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ชื่อผู้บริจาค วัตถุประสงค์ของการบริจาค เผยแพร่บนเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่ง เพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ทุกขณะ
3.5 เห็นควรให้มีการดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่สถานศึกษาหรือผู้มีอำนาจของสถานศึกษา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.6 เห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ให้ข้อมูลการกระทำทุจริต ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน เช่น ครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษา และบุคคลภายนอกผู้แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือให้ข้อมูล รวมทั้งให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการตรวจสอบติดตามการดำเนินการรับนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์การรับนักเรียนในทุกขั้นตอน
4.ข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น มุ่งเสนอต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนของสถานศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้สังกัด สพฐ. ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรนำข้อเสนอแนะไปใช้กับสถานศึกษาภายใต้สังกัดหน่วยงานอื่นด้วย เช่น สถานศึกษาภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถานศึกษาภายใต้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น