เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ​ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏผ่านสื่อสาธารณะ และสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนโดยใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเฆี่ยนตี การให้อมถุงเท้า ให้ถอดกระโปรง และยังมีกรณีความผิดทางเพศ ที่ครูกระทำต่อผู้เรียนที่เป็นศิษย์ในความดูแล  ซึ่งการกระทำดังกล่าวล้วนแต่ขัดต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพครู ที่ครูจะต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์

​เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดเหตุเกี่ยวกับการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพครู ที่อาจเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพครู ทั้งกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเป็นหนังสือ หรือกรณีที่ปรากฏ เป็นข่าวทางสื่อมวลชนใดๆ ก็ตาม คุรุสภาก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงดังนี้ 1. เลขาธิการคุรุสภาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวน เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกร้องเรียน 2. กรณีพบว่าเรื่องร้องเรียนมีมูล คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อดำเนินการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารจากหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย และพยานเอกสารอื่นๆ รวมทั้ง ให้โอกาสผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกกล่าวหา/กล่าวโทษได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ และ 3. เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอรายงานการสอบสวนต่อ กมว. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยขี้ขาด และกำหนดระดับความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งจะมีโทษตั้งแต่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต และสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

​ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา คุรุสภา โดย กมว.ได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดกรณีผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาถูกกล่าวหา/กล่าวโทษ ว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ไปแล้วจำนวนมาก และ ได้มีการออกคำวินิจฉัยแจ้งไปยังผู้ประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยดังกล่าว หากผู้ประกอบวิชาชีพคนใดถูกคำวินิจฉัยให้พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต บุคคลนั้น จะประกอบวิชาชีพดังกล่าวต่อไปไม่ได้ตามเงื่อนไขของคำวินิจฉัย และหากหน่วยงานต้นสังกัดไม่สามารถจัดหาตำแหน่งอื่นใดรองรับให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ จะส่งผลให้บุคคลนั้นต้องพ้นจากหน้าที่ไป

​เลขาธิการคุรุสภา กล่าวด้วยว่า สถิติข้อมูลตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน กมว.ได้มีคำวินิจฉัยกำหนดระดับความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ เรียบร้อยแล้ว จำนวน 174 ราย ดังนี้ ตักเตือน 23 รายภาคทัณฑ์ 41 ราย พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 52 ราย เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 58 ราย ทั้งนี้ กรณีการกระทำผิดเกี่ยวกับล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และการลงโทษนักเรียนโดยใช้วิธีการรุนแรงจนทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บ เป็นกรณีความผิดที่มีระดับโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

“ระหว่างปี 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหา/กล่าวโทษ ในเรื่องเกี่ยวกับ ล่วงละเมิดทางเพศ รวม 27 เรื่อง ถูกพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  3 ราย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต 16 ราย   และอยู่ระหว่างการพิจารณาทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ 8 เรื่อง ดิฉันจึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู ประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ และเกิดผลเสียต่อผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบจากการประพฤติผิดดังกล่าว แล้วถูกลงโทษทางวินัยและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบวิชาชีพ อีกทั้ง เพื่อผดุงเกียรติยศ และศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพครู” ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments