เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา มอบหมายให้ นางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ : กรณีศึกษาจังหวัดสตูล โดยมี ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ดร.ชูสิน วรเดช ศึกษาธิการภาค 6 ดร.อดินันท์ ปากบารา อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี นายสมพงศ์ พละไชยศึกษาธิการจังหวัดสตูล นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมประชุมและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ วิทยาลัยเทคนิคสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
นางศิริพร กล่าวในการเปิดการประชุมว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ลงพื้นที่จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือเพื่อการติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาของประเทศ : กรณีศึกษาจังหวัดสตูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูลสภาพการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุมประเด็นภารกิจของคณะอนุกรรมการด้านประเมินผลการจัดการศึกษา ที่มีดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา มี นายเหมพงษ์ ทวีกาญจน์ เป็นประธาน คณะทำงานวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา มี นางรุ่งเรือง สุขาภิรมย์ เป็นประธาน และ คณะทำงานประเมินผลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา มี นายชวลิต โพธิ์นคร เป็นประธาน รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา
“สกศ. ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น เพื่อนำข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะที่ได้ไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทางการศึกษาของประเทศต่อไป” ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา กล่าว
ด้าน นางอำภา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านประเมินผลการจัดการศึกษาเป็นคณะที่ 3 ของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาทั้ง 9 คณะที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสภาการศึกษา ที่มีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประเมินผลการพัฒนาการศึกษาของชาติ การประเมินผลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา การวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษา ติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษาของประเทศ และรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 3 คณะ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงลงพื้นที่จัดประชุมที่จังหวัดสตูลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลสภาพจริง ข้อคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ โดยพิจารณาเห็นว่าจังหวัดสตูล เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่นำร่องเพื่อปฏิรูปการศึกษา และเป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา พ.ศ. 2562 ที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ส่งผลตต่อการพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ในวงประชุมได้มีการรายงานและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของจังหวัดสตูล มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า รูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมศึกษา ได้กำหนดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของคนสตูลในรูปแบบ SATOY MODEL ประกอบด้วย “S” ย่อมาจาก Social Multicultural พหุวัตนธรรม “A” ย่อมาจาก Adapting to keep up with technology นำเทคโนโลยี “T” ย่อมาจาก Talking to community มีทักษะสื่อสาร “O” ย่อมาจาก On the road to good citizen รักษ์บ้านถิ่นเกิด และ “Y” ย่อมาจาก young Creative เป็นเลิศนวัตกรรม เพื่อต้องการให้สตูลเป็นเมืองต้นแบบนวัตกรรมสานพลังการศึกษาร่วมสร้างการเรียนรู้เชิงรุก โดยดำเนินงานร่วมมือกับภาคีเครือข่าย คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ๕ ฝ่าย และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
นอกจากนี้ เมื่อระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2566 มีการลงพื้นศึกษาดูงานที่สถานศึกษา 5 แห่ง ที่จังหวัดสตูล ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพละงู อำเภอละงู วิทยาลัยเทคนิคสตูล อำเภอเมือง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล อำเภอควนกาหลง โรงเรียบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู และ โรงเรียนบ้านโกตา อำเภอละงู โดย สกศ. จะรวบรวมข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะทุกประเด็นที่ได้รับเพื่อนำไปวิเคราะห์ และใช้ประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาต่อไป