เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา (ว 19/2566) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ หรือบนภูเขาสูงหรือเป็นหุบเขา หรือพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไม่สามารถเดินทางด้วยภาหนะใดๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพื้นที่อื่นใด โดยจะใช้วิธีการประเมินประวัติและประสบการณ์ ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา เป็นต้น นั้น ส่วนตัวคิดว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้มีผู้สมัครมาเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น แก้ปัญหาโรงเรียนขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา แต่อยากให้เพิ่มในเรื่องการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะให้ใช้วิธีการประเมิน ตาม ว13/2556 หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง แทนการประมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว9/2564) หรือเกณฑ์ PA (Performance Agreement) ทั้งนี้เพราะการประเมินPA อาจไม่สะดวกในเรื่องอุปกรณ์ และอินเตอร์เน็ต ดังนั้นจึงคิดว่า การประเมินเชิงประจักษ์จากบริบทการทำงานในพื้นที่จริง น่าจะเหมาะสมมากกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของครูผู้สอน ก็มีปัญหาขาดแคลนเช่นเดียวกับผู้บริหารโรงเรียน ประกอบกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ที่ผ่านมา ก็มีผู้สอบผ่านเพียง 25% ไม่เพียงพอต่อการบรรจุแต่งตั้ง และแน่นอนว่า โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เกาะแก่ง ไม่มีใครอยากมาบรรจุ ดังนั้น จึงอยากให้ปรับวิธีการคัดเลือกมาใช้ การคัดเลือกโดยวิธีพิเศษ เช่นเดียวกับการคัดเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน โดยเปิดโอกาสให้ พนักงานราชการ หรือครูอัตราจ้างที่ทำงานในโรงเรียนนั้น ๆ อยู่แล้ว มีโอกาสเข้ารับการประเมินความเหมาะสม และกำหนดระยะเวลาให้ครูที่ได้รับการคัดเลือก ต้องปฏิบัติหน้าที่ ไม่น้อยกว่า 4-5 ปีถึงสามารถขอย้ายได้ หากสามารถทำได้ คิดว่าจะแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้อย่างรวดเร็ว
นายณรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานหรือลูกจ้างในโรงเรียนที่ปฏิบัติงานสอนไม่น้อยกว่า 3 ปีมีโอกาสสมัครอยู่แล้วนั้น ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหา เพราะการคัดเลือกดังกล่าว ก็ยังใช้วิธีการสอบ ไม่ใช่การประเมิน เช่นเดียวกันการคัดเลือกรองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดูข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ หากพบว่า โรงเรียนดังกล่าวมีปัญหาจาดครูมานาน และไม่มีครูไปบรรจุแต่งตั้ง หากได้ครูในพื้นที่ไปทำงาน ก็จะเป็นประโยชน์ แต่เรื่องนี้ สพฐ. มีโครงการทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งทำร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้ทุนนักเรียนในพื้นที่ได้เรียนครู และกลับไปพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว ดังนั้นข้อเสนอที่ให้จัดประเมินเพื่อคัดเลือกเช่นเดียวกับการคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียนนั้น จึงต้องไปดูความเหมาะสม และความจำเป็นประกอบด้วย