เมื่อวันที่  12 กรกฎาคม 2566 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้ลงนาม หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา(ว19/2566) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานบุคคล ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม มีประสบการณ์และมีศักยภาพในการบริหารสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้ สถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ หมายถึง สถานศึกษาที่ส่วนราชการประกาศ ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะ หรือบนภูเขาสูงหรือเป็นหุบเขา หรือพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ไม่สามารถเดินทางด้วยพาหนะใด ๆ ได้สะดวกตลอดปี หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ หรือพื้นที่อื่นใด โดยอาจนำประกาศของกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา ยกเว้นสถานศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวีและอำเภอสะบ้าย้อย

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า การประกาศตำแหน่งว่าง ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ.ตั้งประกาศจำนวนตำแหน่งว่างในปัจจุบัน โดยระบุชื่อสถานศึกษาที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง กรณีประกาศรับโดยระบุชื่อสถานศึกษาหลายแห่ง และผู้สมัครยื่นสมัครโดยระบุชื่อสถานศึกษามากกว่า 1 แห่ง ให้ผู้สมัครแจ้งยืนยันชื่อสถานศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้งได้เพียงแห่งเดียว โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แก่ผู้ดำเนินการก่อนวันเข้ารับการประเมิน ตามวันและเวลา ที่ผู้ดำเนินการคัดเลือกกำหนด  ทั้งนี้ในวันสมัครเข้ารับการคัดเลือกผู้สมัครต้องรับรองตนเองด้วยว่า ในวันบรรจุและแต่งตั้งตนเองไม่ติดเงื่อนไขอื่นใดที่ก.ค.ศ.กำหนด สำหรับผู้สมัครที่ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ต้องรับรองตนเองด้วยว่า หากตนเองเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในวันบรรจุและแต่งตั้งต้องไม่ติดเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ หรือเงื่อนไขอื่นใดที่ก.ค.ศ.กำหนด สำหรับการดำเนินการของผู้ดำเนินการคัดเลือก ต้องกำหนดจำนวนและตำแหน่งว่าง ชื่อสถานศึกษาที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง กำหนดข้อตกลงการปฏิบัติหน้าที่ตามลักษณะงาน กำหนดองค์ประกอบการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามข้อตกลง รวมทั้งตัวชี้วัด คะแนนการประเมิน เกณฑ์การตัดสิน กรรมการประเมิน และวิธีการประเมิน โดยจะต้องประกาศรับสมัครก่อนวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 7 วัน

“เงื่อนไขกรณีผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ฯนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน หากผลการประเมิน 6 เดือนแรกไม่ผ่าน ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับประเมินทราบ เพื่อพัฒนาตนเองและปรับปรุงการปฏิบัติงานในหน้าที่ และเมื่อครบ 6 เดือนหลัง ให้มีการประเมินครั้งที่ 2 หากผ่านการประเมิน ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่อไป หากไม่ผ่านการประเมินทั้ง 2 ครั้ง จะต้องถูกดำเนินการตามาตรา 71 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และกฎก.ค.ศ.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน พ.ศ.2551 ”รศ.ดร.ประวิต กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์นี้ ต้องอยู่ในสถานศึกษาที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไม่น้อยกว่า 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จึงจะสามารถขอย้ายออกจากสถานศึกษานั้น หรือเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเปลี่ยนไปดำรงตำแหน่งอื่นได้ กรณีที่ตรวจสอบภายหลังแล้วพบว่า ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จะต้องถูกเพิกถอนคำสั่งบรรจุและแต่งตั้ง และจะเรียกร้องสิทธิใด ๆ ไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ หรือผู้อำนวยการสถานศึกษา ออกจากราชการก่อนระยะเวลาการประเมิน 1 ปี เช่น ลาออก หรือเกษียณอายุราชการ หรือเสียชีวิต เป็นต้น ให้ยุติการประเมิน ณ วันที่ออกจากราชการ โดยให้ถือว่าออกจากราชการในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง หากกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้เสนอก.ค.ศ. พิจารณาหรือวินิจฉัย

ดร.สุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การรับสมัครผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนจะไม่การสอบข้อเขียน แต่จะใช้การประเมิน โดยล่าสุดตนได้สั่งการให้เขตพื้นที่ฯ คัดเลือกโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ตามที่ประกาศก.ค.ศ.กำหนดเสนอชื่อโรงเรียนให้อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ พิจารณา ว่า เป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษหรือไม่ ภายในวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนจะส่งรายชื่อเสนอให้ เลขาธิการ กพฐ.และ ก.ค.ศ. พิจารณา ประกาศให้เป็นโรงเรียนในพื้นที่พิเศษต่อไป โดยจากนั้นจึงจะประกาศปฏิทินสอบพร้อมกับรอบปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิสอบได้เลือก ว่า จะสมัครสอบไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนห่างไกล หรือสมัครสอบคัดเลือกในกลุ่มโรงเรียนทั่วไป

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments