เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สพฐ.ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อรวบรวมระบบงานหลักของ สพฐ.ในการใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐานแล้ว ดังนี้ 1. ระบบบริหารข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (DMC) เป็นระบบที่พัฒนาเพื่อบริหารจัดการงบประมาณ ให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับรายการหนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่ภาครัฐให้การสนับสนุน 2. ระบบบริหารงานบุคคล (HRMS) เป็นระบบบริหารงานบุคลากรในสังกัด สพฐ. 3. ระบบงานทะเบียนวัดผล (SGS) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการผลการเรียนของนักเรียน 4. ระบบบริหารงานที่ดินสิ่งก่อสร้าง (B-OBEC) เป็นระบบที่บริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับ อาคารสถานที่ ตลอดจนที่ดิน สิ่งก่อสร้าง 5. ระบบงานสารบรรณ (Smart Obec) เป็นระบบบริหารจัดการ การรับส่งเอกสารทางราชการ ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา จนถึงหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 6. ระบบติดตามสุขภาพจิตนักเรียน (School Health Hero) เป็นระบบที่คอยติดตาม สุขภาพจิตของนักเรียน ตลอดจนแจ้งผู้เชี่ยวชาญจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้การช่วยเหลือ ปรึกษาและรักษา และ 7. ระบบฐานข้อมูลครู นักเรียน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (SET) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลนักเรียนของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลนักเรียน ข้อมูลบุคลากร งบประมาณ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เป็นระบบงานคอมพิวเตอร์ ที่ใช้เป็นเครื่องมือปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยตรง เป็นระบบอัตโนมัติ ที่จะนำมาแทนที่การปฏิบัติงานแบบเดิม
“ ระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลกลางควรเป็นภาพรวมใหญ่ของประเทศ ซึ่ง สพฐ.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาล 3 ขวบ จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีสถานศึกษาในสังกัด 29,312 แห่ง มีครู และบุคลากรทางการศึกษา 5 แสนกว่าคน ดูแลนักเรียนในสังกัดทั่วประเทศมากกว่า 6.5 ล้านคน ดังนั้น เรารอไม่ได้และถ้าไม่นำเทคโนโลยีมาใช้ก็จะไม่ทันการณ์ สพฐ.จึงได้พัฒนาระบบของเราขึ้น และจากการใช้งานระบบที่พัฒนาขึ้น พบว่า เรื่องเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการ เป็นไปในทิศทางที่ดี เราสามารถดึงข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารได้หมด แต่เรื่องเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นั้น ประสิทธิภาพยังไม่เต็มที่ ทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์ โปรแกรมที่ใช้สั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงาน และ ในส่วนของฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ รวมไปถึงเรายังไม่สามารถจัดหาเครื่องมือให้ครู และนักเรียน ได้อย่างเพียงพอ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เครื่องมือต่างๆควรมีทุกโรงเรียน เพียงพอและทันสมัย มีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ เป็นต้น
ดร.อัมพร กล่าวด้วยว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้มอบหมายให้ สพฐ.จัดทำโครงการ ‘การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของกระทรวงศึกษาธิการ ’ เป็นเมกกะโปรเจคขนาดใหญ่ ในกรอบวงเงิน 3,550 ล้านบาทเศษ โดยมีเป้าหมายให้มีระบบประมวลผลแบบคลาวด์ระดับกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOE Private Cloud เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการใช้ทรัพยากรระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน, มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน, มีรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน และ มีระบบเครือข่ายการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBEC Network) ให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เป็นเครือข่ายเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อสถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัดให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติในภาพรวมใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการเฉพาะส่วนที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ในกรอบวงเงิน 3,198 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ สพฐ.ก็จะจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ และเสนอของบประมาณอีกครั้ง.