เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566  นางสาวตรีนุช เทียนทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายนิรุตติ สุทธินนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงศึกษาธิการ, นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะ  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่โรงเรียนบ้านเกาะพยาม จ.ระนอง โดยมีนายมนัส สักขาพรม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางกลาง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะพยาม ให้ข้อมูล ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า โรงเรียนบ้านเกาะพยามเป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง (สพป.ระนอง) เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียน ทั้งหมด 176 คน 8 ห้องเรียน ครู 4 คน จัดการเรียนการสอนแบบคละชั้นเรียน

รมว.ศึกษาธฺการ กล่าวว่า นักเรียนของโรงเรียนบ้านเกาะพยาม มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีนักเรียนทั้งหมด 176 คน เป็นชาติพันธุ์มอแกน ,เมียนมา และลูกครึ่งญี่ปุ่น รวม 119 คน ส่วนที่เหลือ 57 คนเป็นเด็กไทย ทางโรงเรียนได้ปรับตารางเรียนให้เหมาะสมกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยภาคเช้า เน้นด้านภาษาอ่านออกเขียนได้ คำนวณคิดเลขเป็น ส่วนภาคบ่าย จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหลักสูตรสถานศึกษากับฐานการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและนอกห้องเรียน และการฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อทุกคน เดินทางไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเกาะพยาม(กศน.เดิม) และ โรงเรียนในอำเภอเมืองจังหวัดระนอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทาง ทางเรือ 45 นาที อัตราค่าโดยสารเรือ 300 บาท ต่อคนต่อเที่ยว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

“ดิฉันเห็นว่า โรงเรียนบ้านเกาะพยาม มีการจัดการเรียนการสอนได้ดี แม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในเกาะ (Stand alone) ซึ่งหากเด็กได้มีทางเลือกได้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) นอกเหนือจากเรียนกับ ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเกาะพยาม จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมากขึ้น ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเขตพื้นที่การศึกษา ทำการศึกษารูปแบบและวิธีการในการเปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาส หรือ เปิดเป็นห้องเรียนสาขาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 38 สอนถึงชั้น ม.3 เน้นเรื่องทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต รวมถึงมอบ สพฐ.ทำแผนพัฒนาโรงเรียนพื้นที่บนเกาะที่ห่างไกลกันดารทั้งระบบด้วย ไม่ใช่เฉพาะที่เกาะพยามเท่านั้น “ นางสาวตรีนุช กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments