เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกฯ ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษ ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานตำแหน่งฯ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ จะใช้วิธีการประเมิน ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกประเมินตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ได้แก่ ประวัติและประสบการณ์ ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และผลงานที่ภาคภูมิใจ แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก และสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ในการบริหารมีศักยภาพและทักษะในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีเจตคติและอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ทั้งนี้กำหนดให้ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการประเมินสัมฤทธิผล การปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ทุก 6 เดือน เพื่อประเมิน การปฏิบัติงานในหน้าที่ และความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง เนื่องจากตำแหน่งผู้บริหาร สถานศึกษาเป็นตำแหน่งที่จะต้องขับเคลื่อนงานบริหารจัดการสถานศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการ ต้นสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษา รวมทั้งเพื่อให้เป็น มาตรฐานเดียวกับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ทั่วไป
“หลักเกณฑ์นี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา ในพื้นที่ห่างไกลเช่น เกาะแก่ง ภูเขาสูง ซึ่งไม่มีใครอยากไปบรรจุแต่งตั้ง ดังนั้นจึงออกระเบียบใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง จะได้อยู่ในพื้นที่ได้นาน ไม่มีปัญหาโยกย้าย หรือขาดแคลนผู้บริหารเช่นที่ผ่านมา” น.ส.ตรีนุช กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดังนี้ 1.แต่งตั้งอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานอนุกรรมการ 2.เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านกฎหมาย ด้านการศึกษา และด้านการเงินการคลังหรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคล ด้านละ 1 คน รวม 4 คน 3.เลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 3 คน 4.แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ไม่ต่ำกว่าระดับต้น หรือประเภทอำนวยการระดับสูง หรือประเภทวิชาการ ไม่ต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ เป็นอนุกรรมการ