เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2562 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวระหว่างการเป็นประธาน การประชุมสัมมนาบทบาทของผู้นำในการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ณ ห้องประชุมเรสซิเดนซ์ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติในหลักการร่างพ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)เสนอ เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนของประเทศไทยยังมีปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ไม่มีการบูรณาการระหว่างองค์กรที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ในระบบการศึกษา ขาดกลไกและนโยบายในการนำไปปฏิบัติ และยังไม่มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปขยายผลทั้งระบบการศึกษา นั้น ซึ่งขณะนี้ตนทราบว่า เร็ว ๆ นี้ ร่างพ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาดังกล่าว จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้ว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็จะดำเนินการเดินหน้านำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาควบคู่กันไป เพื่อสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนที่สมัครใจเป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยในวันที่ 31 ม.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปงานอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 6-7 ก.พ.นี้
“คนที่จะมาทำงานด้านนี้จะต้องมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องมีองค์ความรู้ มีคุณภาพ ซึ่งเข้ากับหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข รวมถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่9 และพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน ต่อยอดมาเป็นหลักในการทำงานด้านการศึกษา และเป็นแนวทางดำเนินชีวิต ที่จะสร้างประโยชน์ สร้างภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คิดค้นและพัฒนาด้านนวัตกรรมการศึกษาและดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้น ไปใช้ในสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ประกาศจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมนำร่อง 6 จังหวัด และได้ดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว