เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566  ที่ โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสอบครูผู้ช่วยทั่วประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย ศธ. จะเร่งบรรจุแต่งตั้งทดแทนอัตราว่าง ซึ่งมีอยู่กว่า 7,813 อัตรา สำหรับการสอบครั้งนี้มีผู้สมัคร 172,026 คน ผ่านการตรวจคุณสมบัติมีสิทธิสอบ จำนวน 169,595 คน สอบใน 262 สนามสอบทั่วประเทศ โดยกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอก ที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จำนวน 21,525 คน สังคมศึกษา 19,757 คน ภาษาอังกฤษ 16,719 คน คณิตศาสตร์ 16,116 คน และพลศึกษา 15,773 คน ส่วนกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สมัครสอบ คือ ภาษาอังกฤษธุรกิจ เขตที่เปิดสอบคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 อัตรา และ กลุ่มวิชาอรรถบำบัด เขตที่เปิดสอบ คือ สศศ.จำนวน 5 อัตรา โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม บรรจุแต่งตั้งภายในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเปิดรับสมัครการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ภายในเดือนสิงหาคมต่อไป เหตุผลที่เร่งจัดสอบเพราะเข้าใจถึงภาระงานของครู ดังนั้นจึงต้องเติมเต็มเรื่องอัตราต่าง ๆ ให้เต็มที่เพื่อลดภาระครูให้มีเวลาเตรียมการสอนอย่างเต็มที่

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  ในการสอบครั้งนี้ได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยการสอบครั้งนี้ สพฐ.ครั้งนี้ ให้มหาวิทยาลัย 10 แห่ง เป็นผู้ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประเมินผล เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สพฐ.ได้มีมาตรการในการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ ซึ่งในการเข้าห้องสอบนอกจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ ห้ามนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) นาฬิกาเชื่อมต่อมือถือ (Smartwatch) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร รวมทั้งหนังสือ บันทึกข้อความ เอกสารหรือกระดาษสิ่งพิมพ์อื่นใด หรือ วัสดุอุปกรณ์อื่น เช่น กระเป๋าสะพาย เครื่องคำนวณ อุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณได้ เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด และหากพบว่าผู้ใดนำเข้าห้องสอบจะถือว่ามีเจตนากระทำการทุจริต ในการสอบและต้องยุติการสอบทันที

“จากการสอบถามผู้เข้าสอบที่สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี พบว่า ข้อสอบในวชิาคณิตศาสตร์มีบางข้อที่ไม่มีคำตอบ และพิมพ์ข้อสอบผิดไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ไปตรวจสอบกับมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เป็นผู้จัดทำข้อสอบแล้ว และหากเกิดข้อผิดพลาดจริงก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบในข้อที่ผิดนั้นไป ในส่วนของสนามสอบนี้ มีผู้มีสิทธิสอบจำนวน 1,689 คน 16 กลุ่มวิชา ใช้ห้องสอบทั้งหมด 68 ห้อง และมีห้องสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด -19 จำนวน 1 ห้อง ในจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบในสนามสอบนี้ มีผู้พิการร่วมสอบด้วย จำนวน 57 คน แบ่งเป็น พิการทางสายตา 3 คน ทางร่างกาย 4 คน ทางหู 49 คน และสติปัญญา 1 คน โดยผู้พิการทางสายตา สนามสอบได้เตรียมเจ้าหน้าที่อ่านข้อสอบ-พร้อมฝนกระดาษคำตอบให้ , ผู้ที่สายตาเลือนลาง ผู้เข้าสอบบางคนจะอ่านเอง โดยใช้แว่นขยาย และจะฝนกระดาษเอง ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน จะทำข้อสอบเองและฝนกระดาษเอง โดยจัดให้มีกรรมการคุมสอบที่เป็นภาษามือไว้คอยประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียด สำหรับผู้พิการทางร่างกาย จะอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเอง”น.ส.ตรีนุช กล่าว

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments