จากการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา กับคณะกรรมการสภาการศึกษา ตามสภาพความเป็นจริงเพื่อนำไปกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาชาติ ที่จังหวัดเชียงราย โดยมี รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา และคณะกรรมการสภาการศึกษา โดยคณะกรรมการสภาการศึกษาได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงเรียนสันติคีรี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งจัดการศึกษาให้กับเด็ก 7 ชนเผ่า และเยี่ยมชมโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ นพรัตน์ อู่ทอง ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ได้รายงานถึงสภาพปัญหาโดยรวมในการศึกษาในจังหวัดเชียงราย ว่า จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัด ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธิ์มากที่สุดของประเทศ มีกว่า 30 ชนเผ่า มีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันต้นๆ ของประเทศ โดยมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 100ปี ถึง 148 คน มีอำเภอ 7 อำเภอที่ติดเขตประเทศเพื่อนบ้าน และมีสามอำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะฉะนั้น การจัดการศึกษาจะต้องมององค์ประกอบทั้งหมดของจังหวัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อคุณภาพ เพื่อผู้สูงอายุและเพื่อตอบสนองต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าตามแนวชายแเดน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สาย ถูกวางเป็น Tradeing city แม่สาย port city อ.เชียงของ logistic city โดยเราจะเตรียมคนเพื่อไปรองรับงานในอนาคตอย่างไร
นายนพรัตน์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าจังหวัดเชียงรายจะมีสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน จำนวน 938 แห่ง มีศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลเด็ก มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒฯและความมั่นคงของมนุษย์(พม.).และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.)กว่า 500 แห่ง มีสถานศึกษานอกระบบและสถานศึกษาเอกชน มูลนิธิ กระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด แต่ก็ยังพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่พื้นที่ตามแนวชายแดนยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ยังมีเด็กตกหล่น และขาดโอกาส นอกจากนี้ยังพบเด็กที่อพยพข้ามแดน ไม่ถูกกฎหมายเข้ามาอยู่ในพื้นที่และมีการย้ายถิ่นฐานตามแรงงานใหม่ ๆ นอกจากนี้ เรายังพบปัญหาการลาออกกลางคัน เมื่อนักศึกษากลุ่มนี้เข้ามาเรียนต่อในเมืองทั้งชายและหญิง บางคนปรับตัวไม่ได้ บางคนหลงไปกับแสงสี เช่นเด็กหญิง ก็อาจมีปัญหาเรื่องเพศ ส่วนเด็กผู้ชายเมื่อหลุดจากระบบออกจากโรงเรียนก็กลับไปอยู่บนดอย และถูกชักชวนจากกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ทำให้เป็นเด็กส่งยาก็มี
นายสะอาด คำตัน ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า อยากให้จัดการศึกษาสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เพราะปัจจุบันยังพบว่าโรงเรียนยังยึดติดกับหลักสูตรแกนกลาง โรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาให้ตรงกับบริบทของพื้นที่ได้จริง ดังนั้นจึงอยากให้มีการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยให้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและจัดกระบวนการให้เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์
รศ.นพ.ปรีชา กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมทั้ง 2 โรงเรียน โดยเฉพาะปัญหาของนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อเรียนจบแล้ว ไม่สามารถไปทำงานที่ทำให้เกิดความมั่นคงได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นสัญชาติไทย นั้น
เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องต้องมานั่งคุยกันว่าอะไรคือปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าระเบียบต่าง ๆ มีระเบียบกฏเกณฑ์อยู่ ต้องทำเป็นระบบ และต้องเคารพกฎหมายด้วย เรื่องนี้ต้องมานั่งคุยกันและหาวิธีการที่ถูกต้องมาแก้ไขปัญหา เรื่องความเสมอ ที่ผ่านมาทุกฝ่ายก็ได้แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเรื่อย ๆ มา ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและช่วยกันคลี่คลาย ซึ่งภาพรวมผู้เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำมีอยู่เยอะมาก แต่เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ต้องมานั่งคุยกันและค่อย ๆ แก้ไขทีละจุด เพราะความเหลื่อมล้ำคือการให้โอกาส
ด้านดร.สุภัทร กล่าวว่า จากการรับฟังมีหลายประเด็นที่ต้องไปนั่งคุยกันในคณะกรรมการสภาการศึกษา บางเรื่องเราก็ต้องมาคิดกันลึก ๆ ว่าที่ผ่านมาการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาชาติของสภาการศึกษามาถูกทิศทางหรือไม่ อะไรที่ยังขาดหายไป