เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566  ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่เข้าสู่ปีที่ 21 ของการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งจากการประเมินงานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตนได้วิเคราะห์ถึงบทบาทหน้าที่ของ สพฐ.แล้ว คิดว่ามีสิ่งที่ทำยังไม่บรรลุเป้าหมายและยังต้องทำต่อไป อาทิ  มิติโอกาสที่เราอาจจะมีพัฒนาการการจัดการศึกษาได้ทั่วถึง แต่ก็ยอมรับว่ายังขาดในเรื่องของความมีคุณภาพที่อาจจะยังมีปัญหาอยู่ รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่และขนาดของโรงเรียนก็ยังเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข เป็นต้น จากประเด็นเหล่านี้ คิดว่าในทศวรรษที่สามของ สพฐ. สิ่งที่คนจะมาเป็นเลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความเข้มแข็งประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก  คือ 1.การทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนแห่งความสุข ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพราะวันนี้มีเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพ กาย ใจ ค่อนข้างสูง แสดงว่ามิติความสุขของเด็กลดลง เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแก้ไขคือ ทำอย่างไรที่ สพฐ.จะร่วมกับกรมสุขภาพจิตมาออกแบบวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เขามีความสุขมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขอนามัยสำหรับเด็กในอนาคต

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า 2.เรื่องโอกาสหรือความทั่วถึง ความเท่าเทียม ซึ่ง สพฐ.มีเด็กอยู่ 3 กลุ่ม คือ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กกลุ่มปกติ และ เด็กกลุ่มด้อยโอกาส แต่จะทำอย่างไรเด็กทั้งสามกลุ่มนี้จึงจะได้รับการจัดการศึกษาที่มีความเท่าเทียมและทั่วถึง หมายความว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษก็ควรได้รับการต่อยอดให้ไปถึงเป้าหมายได้ไวกว่าไม่ใช่กวาดเด็กมาอยู่รวมกัน ส่วนเด็กปกติจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาไปสู่การเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือ เด็กด้อยโอกาสจะทำอย่างไรเด็กจะพัฒนาการให้สามารถพึ่งตนเองได้หรือมีความก้าวหน้า  ประเด็นที่ 3. เรื่องคุณภาพของผู้เรียนที่สังคมคาดหวังอยากเห็นสมรรถนะเด็กไทยไปสู่การแข่งขันในเวทีโลก นั่นคือการจัดการศึกษาต่อไปนี้จะจัดแค่ให้รู้ และจำ ไม่เพียงพอแล้วกับโลกในอนาคต เพราะฉะนั้นจะต้องสอนให้เด็กสามารถเอาความรู้ที่จำและเข้าใจไปใช้ ลงมือทำ หรือแก้ไขปัญหาชีวิต หรือ ใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่า คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งในอนาคตจะต้องทำในเรื่องของฐานสมรรถนะ ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร รวมไปถึงการปรับการเรียนการสอนใหม่โดยต้องไม่ลืมว่าจะต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่เลขาธิการ กพฐ.คนต่อไปจะต้องมาสานต่อ

“ประเด็นสุดท้ายที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ เนื่องจากเรามีโรงเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้โรงเรียนมีขนาดใกล้เคียงกัน มีจำนวนนักเรียนที่พอเหมาะมีครูครบชั้น แล้วจึงไปว่ากันเรื่องคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่า ในการบริหารจัดการโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ มีความจำเป็นที่จะต้องจำแนกโรงเรียน ออกเป็น 3 กลุ่มหลักใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.โรงเรียนที่ไปสู่ความเป็นเลิศหรือแข่งขันสูงซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีเด็กที่ต้องการเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก 2. โรงเรียนปกติ ซึ่งกลุ่มนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก โดยเป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กถึงกว่า 15,000 โรง จะทำอย่างไรจึงจะมีจำนวนที่พอดีควรจะเหลือไม่เกิน 8,000 โรง และ 3. กลุ่มโรงเรียนที่จำเป็นต้องคงอยู่ คือกลุ่มโรงเรียนสแตนด์อโลน ที่อยู่บนเกาะแก่ง บนดอย บนภูเขาสูง  ซึ่งล้วนแต่เป็นความท้าทายว่า สพฐ.จะบริหารจัดการโรงเรียนอย่างไรให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน คือ โรงเรียนอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ปกติ แต่เป็นพื้นที่ขนาดเล็กจะใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไร หรือโรงเรียนที่แข่งขันสูงจะควบคุมขนาดของโรงเรียนได้แค่ไหน อย่างไร เพื่อไม่ให้โอเวอร์โหลด เป็นต้น” ดร.อัมพรกล่าวและว่า ถ้าทำได้ทั้ง 4เรื่องหลักนี้ คิดว่าเรื่องการบริหารจัดการจะไปต่อได้แน่นอน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments