วันนี้ (8 ม.ค.) นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร สพฐ. ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงาน สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก (Pabuk) ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา ปัตตานี ยะลา โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 7 ม.ค. พบว่ามีจำนวนโรงเรียน 679 แห่งที่ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 16 เขต จำนวน 623 โรง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต11 (สุราษฎร์ธานี,ชุมพร) 1 โรง และสพม.เขต 12 (นครศรีธรรมราช,พัทลุง) 48 โรง ล่าสุดได้รับรายงานด้วยว่าวันนี้ยังมีสถานศึกษาที่ประกาศปิดการเรียนการสอน 24 โรง ส่วนวันที่ 9 ม.ค.แจ้งปิด 1 โรง และในวันที่ 10 ม.ค.จะสามารถเปิดจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติได้ครบทุกโรงเรียน
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สพฐ.ได้มีการแจ้งเตือนให้สถานศึกษาติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์มาแต่ก่อนที่พายุโซนร้อนปาบึกจะเข้าพื้นที่ และได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังช่วยเหลือโรงเรียนและนักเรียนที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งมอบให้ สพป.เขต 1 ของทุกจังหวัดเป็นจุดหลักในการประชาสัมพันธ์และรับบริจาคสิ่งของจากผู้มีจิตศรัทธา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ และส่งต่อไปยังโรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ ขณะเดียวกัน สพฐ.ได้เปิดบัญชี “รวมน้ำใจสู่อุทกภัยโรงเรียน” ปัจจุบันมียอดเงินอยู่กว่า 5 ล้านบาท ซึ่งยังเปิดรับบริจาคต่อเนื่องจากบุคคลภายนอกด้วย เพื่อเตรียมการไว้ช่วยเหลือสถานศึกษาอื่นที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน
“ในระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค.สพฐ.จะส่งทีมผู้บริหารระดับสูงแบ่งสายลงพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยอย่างหนัก คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อมอบสิ่งของและนำเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ สพฐ.ได้รับบริจาคผ่านบัญชีรวมน้ำใจสู่อุทกภัยโรงเรียน ไปมอบให้ทั้ง 629 โรงเรียน โรงเรียนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 3 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้มาจากเงิน ทั้งนี้ เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติก็ได้กำชับให้สถานศึกษา สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและรายงานไปยังเขตพื้นที่ฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณลงไปทำการซ่อมแซม อาคาร สถานที่ที่เสียหายให้กลับมาใช้งานได้ตามเดิม ส่วนการสอนชดเชยแก่นักเรียนนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทุกโรงเรียนทราบดีว่ากรณีที่ปิดการเรียนการสอนไปจะต้องสอนชดเชยให้ครบด้วย”นายสุรศักดิ์ กล่าว