เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนพร้อมด้วยผู้บริหาร สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เดินทางไปดูรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศของประเทศอังกฤษ ซึ่งพบว่า โครงสร้างการเรียนของประเทศอังกฤษไม่ได้ สอนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เพียว ๆ แต่มีการบูรณาการการเรียนการสอนกับวิชาการด้วยศิลปะ เช่น การออกแบบที่ต้องใช้คณิตศาสตร์ควบคู่กับศิลปะ มีการเรียนในรูปแบบโครงงาน เช่นเดียวกันกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แตกต่างกันตรงชั่วโมงการเรียน ซึ่งโรงเรียนที่อังกฤษจะเรียนวิชาการในห้องเรียนน้อย แต่เน้นการปฏิบัติ หรือการทดลองในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บมากกว่า และเด็กแต่ละคนจะมีเป้าหมายหรือเส้นทางอาชีพของตัวเองตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เมื่อเด็กมีเป้าหมายชัดเจน ก็จะพยายามเรียนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ครูและผู้ปกครองก็จะสามารถส่งเสริมสนับสนุนได้อย่างถูกทาง ต่างกับไทยเราที่เด็กยังไม่มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน เรียนไปแบบไม่มีเป้าหมาย ทำให้เรียนจบมาแล้วหางานทำไม่ได้ ดังนั้นโดยส่วนตัวเห็นว่าหากจะนำมาใช้กับการเรียนในประเทศไทย ควรจะมีการปรับหลักสูตรโดยเฉพาะเรื่องเวลาเรียน ทำอย่างไรให้สมดุลกับภาคปฏิบัติ ที่อาจต้องส่งเสริมเรื่องการทำโครงงาน และให้มีผลเชื่อมโยงกับการเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนนี้ต้องหารือกับทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อให้การดำเนินการมีความสอดคล้องกันทั้งระบบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาครู ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีการอบรมพัฒนาครูกันเองภายในโรงเรียน โดยนำข้อดี ข้อเสียมาพัฒนา ส่วนหนึ่งเพราะการบริหารงานของโรงเรียนในประเทศอังกฤษมีรูปแบบเป็นนิติบุคคล จึงสามารถดำเนินการได้เองภายในโรงเรียนต่างกับโรงเรียนของไทย ที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์แบบ ทำให้การพัฒนาส่วนมากยังต้องลงมาจากข้างบน ส่วนจะส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลทั้งหมดก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะบางโรงเรียนก็ยังไม่มีความพร้อมโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก
“ถ้าจะนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของอังกฤษมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในประเทศไทย ควรจะเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นต้น แต่การเดินทางไปดูงานครั้งนี้ เพื่อมาปรับใช้ในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ก่อน เพื่อต้องการกระจายการจัดการเรียนการสอนใน โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นแม่ข่าย ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นสามเสาหลัก เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วยวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ” ดร.อัมพรกล่าว