เมื่อวันที่ 12 มิถุยายน 2566 ดร. ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้มีการนำร่องการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา โดยให้จังหวัดที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นพื้นที่ฯนำร่อง ตามแนวทางพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ที่ตอนนี้มีอยู่ 19 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีโรงเรียนนำร่อง 1,042 แห่ง และกำลังจะมีจังหวัดที่มีความพร้อมใหม่อีก 1 พื้นที่ฯ คือจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ
ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นการค้นหานวัตกรรมรูปแบบการเรียนการสอน การบริหารจัดการเพื่อให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน มีการสร้างเครือข่ายสู่การปฏิบัติได้จริง ตามบริบทของพื้นที่ ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด มีรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม สังคม ประเพณี รวมถึงความคิดเหตุผลก็แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องการให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นพื้นที่สมบูรณ์แบบทำยังไงจะให้มีรูปแบบ วิธีการ เทคนิค หรือโมเดล ที่จะเกิดขึ้นตามบริบทแต่ละพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ ขับเคลื่อนไปด้วยดี ที่สำคัญโรงเรียนจะต้องสมัครใจที่จะเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและพร้อมที่จะขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปกับเราด้วย ที่สำคัญภาคีเครือข่ายต้องแข็งแรงเพราะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันกับหลายหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดนวัตกรรมการศึกษา ที่เน้นการกระจายอำนาจ ให้อิสระแก่หน่วยงานและโรงเรียนเพื่อมุ่งยกผลสัมฤทธิ์และลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการคิดค้น พัฒนา ทดลอง หรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้พื้นที่สร้างกลไกการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน