เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมร่วมกับผู้บริหารส่วนราชการการศึกษาจังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ศธ.พยายามกระจายงานการศึกษาลงสู่ภูมิภาคมากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การบริหารการศึกษาจะกระจุกอยู่เฉพาะส่วนกลางไม่ได้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ตนได้เข้ามาทำงานในตำแหน่ง รมว.ศธ. ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดี ทำให้มีปัญหาเด็กออกกลางคัน ดังนั้น นโยบายแรกๆ ที่ได้ทำคือ โครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งต้องขอขอบคุณทางพื้นที่และผู้บริหารสถานศึกษาที่สามารถช่วยติดตามน้องๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จำนวนมาก แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่กลับมาสู่ระบบ ซึ่งเราก็ต้องหาตัวเด็กกลับมาสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ถึงแม้จะไม่ได้เข้าสู่ระบบโรงเรียนเราก็ยังมีเครือข่ายอื่นๆอีก ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทุกมิติ โดยต้องลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านนักเรียน 100% ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กำหนดให้เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนแห่งการเยี่ยมบ้านนักเรียน ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลช่วยเหลือเด็กในทุกๆเรื่องจากข้อมูลของนักเรียนที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ปกครองโดยตรง อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของความไม่ปลอดภัยร่วมกับผู้ปกครองที่ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภัยจากยาเสพติด และเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา เราก็ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่เกิดโควิด-19 เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาก็มาทุกมิติทั้งเรื่องของยาเสพติด ความรุนแรงซึ่งโรงเรียนก็ต้องตื่นตัวหาวิธีป้องกันโดยใช้ 3 ป. เข้ามาควบคุม ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากร นอก จากนี้รัฐบาลยังได้เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มค่าอาหารกลางวันให้ด้วย และจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศก็ พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางโรงเรียนคุณภาพ มีการนำนักเรียนมาเรียนรวม มีการจัดแผนงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่จากการรับฟังรายงานในวันนี้พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในจังหวัดพัทลุง สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ พัฒนานักเรียนให้มีทักษะวิชาการ มีวิชาชีพ ได้รับการยอมรับและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชุมชม ได้รับรางวัลคุณภาพระดับประเทศ ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดถอดบทเรียนวิธีการดำเนินงานของผู้บริหาร และคณะครูของโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ ต่อไป

“อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนคุณภาพ นั้น จากนี้ไปโรงเรียนขนาดเล็กจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่งบประมาณของประเทศก็ยังมีข้อจำกัดซึ่งถือเป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม โดย ศธ.ได้พยายามคลี่คลายปัญหาอุปสรรคการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียน 61-119 คน จำนวน 7,969 โรง ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ 1,760 โรงที่ยังไม่มีผู้อำนวยการ ศธ.ก็ได้ผลักดันจนคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้โรงเรียนกลุ่มนี้ มีผู้อำนวยการโรงเรียนโดยเร็วที่สุดแล้ว”น.ส.ตรีนุช กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments