เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดมาตรการแบบเข้มข้น ในเรื่องผู้เรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กออกกลางคัน โดยขณะนี้ สอศ. ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามป้องกันและให้รายงานตัวเลขทั้ง นักศึกษาที่หลุดออกจากระบบ และเข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเข้าระบบการรายงานผลมายัง สอศ. เป็นการเร่งด่วน และมอบหมายให้สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด (สอจ.) เป็นผู้กำกับติดตามพร้อมรายงาน อาทิ 1.การป้องกันไม่ให้ผู้เรียนหลุดออกจากระบบ 2.ให้สถานศึกษาในสังกัดทั้งภาครัฐและเอกชน ดึงผู้เรียนกลับเข้าสู่ระบบ และ 3.ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับบริบทของพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ตามเงื่อนเวลา และสภาพของผู้เรียน เป็นต้น
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สอศ. ได้ดำเนินเนินโครงการต่างๆ รองรับผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อลดความเลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา เช่น โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ให้ผู้เรียนได้มีหอพักและมีทักษะวิชาชีพ โครงการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ซึ่ง สอศ. ได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาและเพิ่มทักษะวิชาชีพต่างๆ ให้ตอบโจทย์และความต้องการของผู้เรียน เป็นไปตามบริบทของพื้นที่และผู้เรียน อาทิ หลักสูตรระยะสั้น เพื่อการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง หลักสูตรที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ สาขาวิชาที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรายวิชาที่เป็นความต้องการเข้ากับแทรนด์ของยุคปัจจุบัน การอบรมหลักสูตรการสร้างผู้มีอิทธิพลทางสื่อโซเชียล (Influencer) ด้านอาชีวศึกษาบนแพลตฟอร์ม Youtube และ TIKTOK รวมทั้งการผลักดันและขับเคลื่อนร่วมกับภาคีภาคเอกชน คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) ในการพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ 35 กลุ่มอาชีพ ให้ครอบคลุมทุกสาขา อาชีพที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย การจัดการเรียนการสอนทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อรองรับการมีงานทำและมีทักษะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวและว่า ทั้งนี้ สอศ. จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโอกาส ความเท่าเทียมทางการศึกษาและความเสมอภาค เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกของผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยปีนี้ สอศ. ตั้งเป้าตัวเลขผู้เรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์