วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ร่วมเปิดงาน การแข่งขันสุดยอดฝีมืออาหารไทย เฟ้นหาสุดยอดฝีมือนักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา ด้านการทำอาหารไทย (ประเภท อาหารสำรับไทย) ระดับประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกับ บริษัท เอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลสูงสุดกว่า 230,000 บาท พร้อมโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัท เอส แอนด์ พี เพื่อส่งเสริมทักษะการประกอบอาหารไทย ของนักเรียนอาชีวศึกษา และสนับสนุนกำลังคนระดับอาชีวะสู่ตลาดแรงงานระดับสากล โดยมีคุณภัทรา ศิลาอ่อน ประธานกรรมการ คุณวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง บุคลากร สอศ. เข้าร่วมงาน ณ S&P Hall สุขุมวิท 26
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ภาคเอกชน อย่าง บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้แสดงจุดรวมในการเป็นพลังเพื่อพัฒนาประเทศ ระหว่างภาคเอกชนกับอาชีวศึกษา ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษา อาชีวศึกษา ได้นำความรู้ความสามารถ ทักษะการประกอบอาหารไทย มาใช้ในการแข่งขันเพื่อแสดงศักยภาพด้านทักษะวิชาชีพการประกอบอาหารไทย อันจะนำไปสู่การยกระดับทักษะฝืมือ สู่มาตรฐานวิชาชีพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพด้านการประกอบอาหารไทย ที่ สอศ. เรามีการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ และสาขาวิชาเชฟอาหารไทย ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) โดยการแข่งขันสุดยอดฝีมืออาหารไทย จะเปิดรับสมัครนักเรียนในระบบ หรือระบบทวิภาคี ของสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สาขาวิชาอาหารและโภชนาการและสาขาวิชาเชฟอาหารไทย ซึ่งจะเริ่มต้นแข่งขันระดับจังหวัดไปจนถึงระดับชาติ โดยทีมที่ชนะเลิศในระดับจังหวัดจะได้เป็นตัวแทนเข้าสู่การแข่งขันระดับภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานครที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา วันที่ 20 ก.ค. 66 ภาคกลางที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม วันที่ 24 ก.ค. 66 ภาคเหนือที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วันที่ 26 ก.ค.66 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา วันที่ 3 ส.ค. 66 และภาคใต้ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี วันที่ 7 ส.ค. 66 สำหรับระดับชาติ จะจัดที่โรงเรียนการอาหารไทย เอ็ม เอส ซี ในวันที่ 7 กันยายน 2566 โดยทีมที่ชนะเลิศ S&P ได้สนับสนุนเงินรางวัลการแข่งขันมากกว่า 230,000 บาท โดยเริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 มิ.ย. 66 ดาวน์โหลดเอกสารการสมัครได้ที่ https://shorturl.asia/gwRkM หรือติดต่อที่สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดในแต่ละพื้นที่
คุณวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเอส แอนด์ พี กับ สอศ. ในการจัดโครงการ “การแข่งขันสุดยอดฝีมืออาหารไทย” ในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญร่วมกัน คือเพื่อร่วมพัฒนาทักษะแรงงานวิชาชีพในการประกอบอาหารไทย ให้เพียงพอและมีศักยภาพตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมทางด้านอาหารที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล พร้อมกับผลักดันให้อาหารไทยกลายเป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึง ปีนี้ เอส แอนด์ พี ของเราก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้แก่ลูกค้าทุกท่าน ควบคู่ไปกับการเติบโตของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และยังคงตั้งเป้าหมายเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เรามีร้านอาหารทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องใช้พนักงานครัวไทยกว่า 800 คน ดังนั้นเราอยากเฟ้นหานักเรียน นักศึกษาที่มีความสามารถในการทำอาหารมาเป็น “สุดยอดฝีมืออาหารไทย” เข้ามาร่วมงาน มาเป็นครอบครัวเดียวกันกับ เอส แอนด์ พี ด้วยความภาคภูมิใจ
คุณมณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปี ของเอส แอนด์ พี ปัจจัยแห่งความสำเร็จและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ “บุคลากร” โดย S&P มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำคัญ คือ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยการสร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อส่งเสริมบุคลากรให้มีศักยภาพในประกอบธุรกิจอาหาร รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต การให้ความรู้ด้านโภชนาการและการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดี มีโภชนาการครบถ้วน จะช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่ 2 การยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งได้คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีโดยตรงจากเกษตรกร ที่มาจากแหล่งวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย เชื่อถือได้ และเรายังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับเกษตรกรเพื่อร่วมกันพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น และอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือ เป้าหมายที่ 17 สร้างพลังแห่งความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยความร่วมมือในการยกระดับการศึกษาร่วมกับพันธมิตรที่ดีอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งเราเชื่อมโยงการเรียนรู้ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า และสร้างความภูมิใจในตนเองให้แก่เยาวชน โดยS&P มุ่งหวังจะเป็น “ครัวของคนไทย” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพคนไทย ด้วยการบริโภคอาหารที่มีโภชนาการที่ครบถ้วน ลดความหิวโหย และการส่งมอบอาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี ส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรท้องถิ่น เพื่อเป็นพลังให้แก่คนในสังคมไทยต่อไป