ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้มาตรา 44 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ป.ป.ช.ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย บอร์ดกองทุน ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า คำสั่งของหัวหน้า คสช.ดังกล่าว น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาของมหาวิทยาลัยได้มาก เพราะจากประกาศของ ป.ป.ช.ครั้งแรก ส่งผลให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนในมหาวิยาลัยหลายแห่ง แสดงเจตจำนงขอลาออก แต่ ทปอ.และมหาวิทยาลัย ได้ขอร้องให้รอดูที่ไปก่อน สำหรับ มจธ. มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงเจตจำนงขอลาออกประมาณ 5 คน ซึ่งก็หวังว่าเมื่อกรรมการเหล่านี้ได้เห็นข่าวคำสั่ง คสช.ที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว จะเปลี่ยนใจไม่ลาออก อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีเวลาพอสมควรที่จะให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ คิดไตร่ตรองก่อน โดยขอให้รอประกาศ ป.ป.ช.ที่ชัดเจน ก่อนตัดสินใจลาออก ในส่วนของ ทปอ.จะนัดหารือกันอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับ ประธาน ทปอ. ว่าจะเรียกประชุมหรือไม่
ขณะที่ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีเทคโนโลยีราชมงคล(ทปอ.มทร.) กล่าวว่า รัฐบาลคงเห็นแล้วว่าประกาศของ ป.ป.ช.ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยเชิญมาช่วย ก็เป็นผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์สูง มีเครือข่ายมากมายที่จะมาช่วยมหาวิทยาลัยพัฒนา โดยไม่หวังผลกำไร คำสั่ง คสช. ดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อคให้มหาวิทยาลัยสามารถทำงานต่อไปได้ อย่างไรก็ตามขอวิงวอน ป.ป.ช.ว่า หลังจากนี้ ขอให้มีประกาศฉบับใหม่ที่มีความชัดเจนว่า กรรมการสภาไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี มีกรรมการสภาที่ยื่นความประสงค์ขอลาออก 6 คน ซึ่งหวังว่าจะไม่ลาออก ส่วน ทปอ.มทร.ก็จะรอดูประกาศ ป.ป.ช.ที่จะออกมาจะมีความชัดเจนอย่างไร และปลาย เดือน ธ.ค.นี้ ทปอ.มทร.ก็จะมีการประชุมกัน ก็จะหยิบเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสภามาหารือกันอีกครั้ง