เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2566 ดร.อรรพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการ ว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์การอื่นๆ (Programme and External Relations Commission – PX) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวันที่ 17 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านโครงการและแผนงานภายใต้ 5 สาขาของยูเนสโก ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน รวมถึงการรับรองแหล่งอุทยานธรณีโลกแห่งใหม่ (Nominations of new UNESCO Global Geoparks) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองอุทยานธรณีจำนวน 18 แห่ง เป็น UNESCO Global Geoparks รวมถึงอุทยานธรณีโคราช หรือ โคราชจีโอปาร์ค (Khorat Geopark) ด้วย
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อุทยานธรณีโคราช เป็นหนึ่งในอุทยานธรณีทั่วโลกที่สมัครเข้ารับการพิจารณาและผ่านเกณฑ์การขึ้นเป็น UNESCO Global Geoparks จากการพิจารณาของคณะกรรมการในที่ประชุม UNESCO Global Geoparks Council และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 5 กันยายน 2565 ณ จังหวัดสตูล และการประชุมออนไลน์ระหว่างวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2565 โดยผลการพิจารณาดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ครั้งนี้แล้ว โดยขอบเขตอุทยานธรณีโคราช ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอต่อเนื่องกันในบริเวณลุ่มแม่น้ำลำตะคอง ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองโคราช และเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีที่สำคัญ มีความโดดเด่นเป็นสากล มีภูมิประเทศเควสตา (Cuesta) หรือเขารูปอีโต้ แหล่งที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคจำนวนมาก รวมถึงฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์ มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของชุมชนที่แสดงถึงมรดกทางภูมิปัญญาและทางธรรมชาติอย่างกลมกลืน