เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566) ที่กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( สำนักงาน กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้จัดพิธีโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณสิทธิ หนี้ และภาระผูกพันทั้งปวง ให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กระทรวงศึกษาธิการ โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวผ่านระบบออนไลน์จากประเทศฝรั่งเศส ว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับพี่น้องชาว กศน. ในการยกระดับจาก“สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” หรือ “สำนักงานกศน.” สู่การเป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจุดเด่นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเดิม จัดตั้งเป็น “ศูนย์การเรียนรู้” ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มทักษะชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นกรมใหม่ล่าสุดของประเทศไทยที่มีภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมีความคาดหวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย รูปแบบการทำงานจึงต้องเป็นแบบบูรณาการทั้งแนวระนาบเดียวกัน และแนวตั้ง ทั้งในกระทรวง และระหว่างกระทรวง ที่สำคัญ คือ ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการร่วมจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดิฉันเชื่อว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ไปสู่การเรียนรู้ของคนไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนทุกคนได้” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับชาว กศน. กับการก้าวไปสู่บ้านหลังใหม่ ซึ่งเป็นการยกระดับจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ และมีการยุบรวมกรมต่าง ๆของกระทรวงศึกษาธิการ จากเดิม 14 กรม เหลือเพียง 5 สำนักงาน ทำให้ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ถูกยุบรวมเป็น “สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน” สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น พร้อมทั้งสามารถรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายในทุกพื้นที่จึงได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551 จึงทำให้สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนถูกปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” หรือ “สำนักงาน กศน.” เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศไทย จนกระทั่งวันที่ 18 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 โดยยกระดับจากสำนักงาน กศน. เป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
“สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานกศน. จึงขอส่งมอบและโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้และภาระผูกพันทั้งปวง รวมถึงข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงาน กศน. ไปเป็นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ “ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566” ผมเชื่อมั่นว่าการยกฐานะเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ถือเป็นโอกาสดีในการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
สุดท้ายนี้ ผมขอส่งพลังกาย พลังใจในการปฏิบัติงานไปยังพี่น้องกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ทุกท่าน มุ่งมั่นปฏิบัติงานอย่างสุดกำลังความสามารถ และปฏิบัติงานในภายภาคหน้าด้วย ความราบรื่นและสัมฤทธิ์ผล สร้างประโยชน์ต่อระบบการศึกษาโดยรวมสืบไป”ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
ด้าน ดร.คมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า การจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ได้เริ่ม มีอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2483 โดยรัฐบาลได้จัดตั้ง “กองการศึกษาผู้ใหญ่” สังกัด สป.ศธ. เพื่อรับผิดชอบงานการศึกษาผู้ใหญ่โดยตรง ก่อนจะเกิดการปรับเปลี่ยนอีกหลายครั้ง เป็น “กรมการศึกษานอกโรงเรียน” ต่อมาเป็น“สำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน” จนล่าสุดเป็น “สำนักงาน กศน.” ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และเมื่อวันที่19 มีนาคม 2566 ได้มีการเผยแพร่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ยกเลิกพ.ร.บ.ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 โดยยกระดับจาก สำนักงาน กศน. เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้
“ การโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันต่างๆ ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ ในวันนี้ เป็นการเปลี่ยนสถานะสู่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ อย่างเต็มตัว ตามมาตรา 28 ที่จะช่วยให้ขับเคลื่อนภารกิจต่อไปได้ และในขณะที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงของ สำนักงานกศน. ไปสู่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วประชาชนจะได้อะไรบ้าง ซึ่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และบุคลากรของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทุกคน ขอยืนยันว่าจะมุ่งดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม เต็มสรรพกำลังความสามารถ ผลักดันให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา และนำไปสู่การเรียนรู้ของคนไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย และยกระดับสังคมในภาพรวมของประเทศต่อไป ” ดร.คมกฤช กล่าว.