วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ ประชุมหารือด้านความร่วมมือการอาชีวศึกษา พร้อมเป็นพยานความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารและGuangdong Mechanical and Electrical Polytechnic โดยคุณ เจิ้ง เหว่ย กวาง ผู้อำนวยการ ณ Guangdong Mechanical and Electrical Polytechnic สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้จากความร่วมมือดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้วางแผนความร่วมมือกับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาของประเทศจีน ในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะทางอาชีพ และทักษะภาษาจีน สอศ. พร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและองค์กร และจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติและศูนย์ย่อยอาเซียน เพื่อสนับสนุนความร่วมมือการผลิตกำลังคนระหว่างประเทศ ร่วมจัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะทางเทคนิค 5 หลักสูตร และหลักสูตรการฝึกอบรม “ภาษาจีน+ทักษะอาชีพ” จำนวน 7 หลักสูตร โดยร่วมกับสหพันธ์การลงทุนต่างประเทศของสมาคมการลงทุนจีน, หอการค้าอีคอมเมิร์ซจีน-แอฟริกา, หอการค้านานาชาติกวางตุ้ง และองค์กรอื่นๆ ตามแนว “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
เลขาธิการกอศ.กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมหารือด้านความร่วมมือการอาชีวศึกษา ว่า สอศ.มีแนวคิดในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะด้านภาษาและเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และเป็นเป้าหมายหลักของ สอศ. ซึ่งความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และGuangdong Mechanical and Electrical Polytechnic ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญ และเป็นการตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ที่จำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีความรู้ สมรรถนะ และทักษะ ที่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ให้สามารถรู้เท่าทันและปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และกติกาใหม่ ๆ และมาตรฐานที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบและปัจจัยส่งเสริมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทั้งในส่วนของระบบการเรียนการสอน และการพัฒนาทักษะฝีมือที่สอดคล้องกันกับการพัฒนาของคนในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวทันโลก จากการต่อยอดการพัฒนาบนพื้นฐานนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลให้เกิดการสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกภาคส่วน