ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) 35 กลุ่มอาชีพ ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการแสวงหาความร่วมมือกับสถานประกอบการที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง จากวิสัยทัศน์และแนวคิด คือเป้าหมายสูงสุดในการกำหนดทิศทางกำหนด concept “ประเทศไทยมั่นคง ร่ำรวย ด้วยมืออาชีวะ” สู่ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ตามพันธกิจ (Mission) ได้แก่ 1. ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ 2. เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย 3. เสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ 4. ยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต และเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับสากล 5. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น 6. พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี โดยแต่งตั้ง อ.กรอ.อศ.ทั้ง 35 กลุ่มอาชีพ ให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาชีวศึกษาและขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานของ อ.กรอ.อศ. โดยเชิญทั้ง 35 กลุ่มอาชีพ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากการประชุมในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอแนะและประเด็นเรื่องความต้อง การเน้นการขับเคลื่อนและการพัฒนาในด้านใด รวมถึงการรับฟังความคิดเห็น และวางแผนร่วมกันในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง โดยข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่างๆ ล้วนเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ต่อจากนี้ สอศ. จะนำไปปรับปรุง ทั้งเรื่องการเรียนการสอน เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาครูเรื่องสื่อเทคโนโลยี และอีกหลายเรื่องที่ อ.กรอ.อศ.ได้ฝากไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการจัดการอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
“ข้อเสนอแนะจาก อ.กรอ.อศ.ที่ทุกกลุ่มอาชีพเน้นมาก คือ การจัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ สอศ.ในการเร่งขับเคลื่อนและดำเนินการอยู่แล้วโดยยืนยันว่า เป็นเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ของสอศ. ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องจัดการศึกษาร่วมกัน เรื่องถัดมาเป็นเรื่องของหลักสูตร การปรับหลักสูตรให้ทันสมัย ยืดหยุ่น ตรงตามมาตรฐานอาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งข้อเสนอแนะของ อ.กรอ.อศ. มีความสอดคล้องกับภารกิจของ สอศ.ที่ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ส่วนบางเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่ คณะ อ.กรอ.อศ.เสนอ สอศ.พร้อมเร่งเพื่อนำเข้าสู่แผนการปฎิบัติและขับเคลื่อนโดยเร็ว ในเรื่องของการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีพบว่า ระดับ ปวช. จำนวนยังคงที่ด้วยหลายสาเหตุ เช่น วุฒิภาวะของผู้เรียนมีความพร้อมค่อนข้างน้อย และสถานประกอบเองมองว่าเด็กเกินไป แต่สำหรับในระดับ ปวส.และระดับปริญญาตรี (ป.ตรี) มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระดับ ป.ตรี เกือบ 100% ซึ่งถือว่าเรื่องการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ถือเป็นหัวใจของการจัดการอาชีวศึกษา ซึ่ง สอศ.จะเร่งรัดและดำเนินการให้เห็นผลโดยเร็ว” เลขาธิการกอศ. กล่าว
สำหรับ 35 กลุ่มอาชีพ ได้ แก่ 1.กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ 2. กลุ่มอาชีพแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์จากผ้า 3.กลุ่มอาชีพแม่พิมพ์ 4.กลุ่มอาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 5.กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมก่อสร้าง 6.กลุ่มอาชีพไฟฟ้า 7.กลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี 8.กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 9.กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีบริการยานยนต์ 10.กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว 11.กลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ 12.กลุ่มอาชีพพลังงาน และพลังงานทดแทน 13.กลุ่มอาชีพธุรกิจค้าปลีก 14.กลุ่มอาชีพรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์เล็กอเนกประสงค์ 15.กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร 16.กลุ่มอาชีพปิโตรเลียม ปิโตรเคมี 17.กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน 18.กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมพลาสติก 19.กลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 20.กลุ่มอาชีพการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 21.กลุ่มอาชีพวิศวกรรมเครื่องจักรกลและงานโลหะ 22.กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมตัวถังและสีรถยนต์ 23.กลุ่มอาชีพไมซ์ (MICE) 24.กลุ่มอาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง 25.กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน 26. กลุ่มอาชีพ ช่างอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 27.กลุ่มอาชีพช่างเชื่อม 28.กลุ่มอาชีพสุขภาพและความงาม29กลุ่มอาชีพนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ 30. กลุ่มอาชีพยานยนต์ไฟฟ้า 31.กลุ่มอาชีพแมคคาทรอนิกส์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 32.กลุ่มอาชีพเศรษฐกิจสร้างสรรค์33.กลุ่มอาชีพธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ 34. กลุ่มพัฒนาความร่วมมืออาชีวศึกษาระหว่างประเทศ 35.กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา