เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( ว 14/2563) ซึ่งได้มีการปรับแก้ โดยให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ตั้ง เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก และ ภาค ข ส่วนการสอบภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา การประเมินด้านความสามารถการสอน ให้ประเมินจากการนำเสนอของผู้สมัครสอบแข่งขันที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอนในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทางหรือสาขาวิชาเอกที่สมัคร ในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ตามที่ผู้ดำเนินการสอบแข่งขันกำหนด โดยกำหนดระยะเวลาประเมินไม่เกิน 20 นาที ต่อผู้สมัครหนึ่งราย นั้น เพื่อให้การจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการครูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สพฐ. จึงได้กำหนดปฏิทินรับสมัครและสอบครูผู้ช่วย สังกัดสพฐ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับปฏิทินสอบครูผู้ช่วย ดังนี้ ประกาศรับสมัคร ภายในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 รับสมัคร วันที่ 31 พฤษภาคม – วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ไม่เว้นวันหยุดราชการ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ภายในวันที่ 23 มิถุนายน สอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 24 มิถุนายน ภาค ข วันที่ 25 มิถุนายน ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก และ ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม สอบภาค ค ประเมินจากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ หรืออ.ก.ค.ศ.สสศ.กำหนด ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566
“สำหรับการจัดสอบครั้งนี้ ถือเป็นงานเกี่ยวกับบริหารบุคคลที่ อ.ก.ค.ศ. รับช่วงต่อจาก คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผมได้กำชับให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่ให้มีปัญหาเรื่องทุจริต คาดว่าจะสามารถบรรจุแต่งตั้งครูผู้ช่วยทดแทนอัตราเกษียณที่มีกว่า 20,000 อัตรา ได้ทันภายในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เพราะตามปฏิทินสพฐ. กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภาคในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้มีครูเพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน โดยคาดว่า การจัดสอบครั้งนี้จะมีผู้เขาสอบไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย เพราะที่ผ่านมามีผู้สอบบรรจุได้น้อย ขณะที่มีเด็กจบใหม่อีกจำนวนมาก ”ดร.อัมพร กล่าว