เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวในรายการพุธเช้าข่าว สพฐ.ว่า ขณะนี้มีบุคลากรสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และบุคลากรจากส่วนกลางบางคน เข้าใจผิดเรื่องการปรับโครงสร้างบริหารงานในเขตพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเข้าใจว่าจะมีการยุบรวมกลุ่มภายในหน่วยงาน ซึ่งตนขอยืนยันว่า สพฐ. ไม่มีนโยบายเพิ่มหรือปรับลดหน่วยงานทั้งในเขตพื้นที่ฯ และส่วนกลาง นอกจากนี้ ยังมีความสับสนเรื่องแบบเรียนภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประเด็นดราม่า เช่น การกินไข่ต้มครึ่งใบ การบริจาคเงิน และการกินข้าวมันไก่ใส่น้ำปลา ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า เราใช้แบบเรียนเล่มดังกล่าวมา 13 ปีแล้ว และแบบเรียนภาษาพาทีเล่มนี้ เป็นเพียงสื่อการเรียนการสอนที่ถูกจัดทำขึ้นมาโดยผูกเรื่องราวให้ได้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านจับใจความ ต้องการให้เด็กเห็นคุณค่า คุณธรรมแห่งความดีงาม จึงได้สมมุติเรื่องราวขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าความสุขของการใช้ชีวิตอยู่ที่จิตใจและการปฏิบัติตน ไม่ใช่เงินทอง เจตนารมณ์ของเนื้อเรื่องจึงไม่ได้มุ่งไปเรื่องโภชนาการ แต่อย่างไรก็ตาม สพฐ. ก็ยินดีรับฟังเพื่อนำเรื่องดังกล่าวไปปรับปรุงเนื้อหาการเรียนให้ดีขึ้น ครูสามารถเลือกสื่อเล่มนี้ไปใช้สอนเพื่อให้นักเรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ได้

เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)  ประจำเขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาโยกย้ายข้าราชการครูเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว และขณะนี้อยู่ในห้วงเวลาที่ครูเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ จึงอยากให้ครูอย่าประวิงเวลา เร่งมอบหมายงานในหน้าที่ของตน และไปรับตำแหน่งใหม่ให้ทันเปิดภาคเรียนในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ส่วนโรงเรียนที่มีตำแหน่งครูว่างอยู่ ทางคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว ซึ่ง สพฐ.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังเขตพื้นที่ฯให้สำรวจจำนวนครูที่ต้องการสอบไปแล้วว่ามีจำนวนเท่าไหร่  เพื่อให้ สพฐ.ดำเนินจัดการสอบครูผู้ช่วยต่อไป ซึ่ง โดยกำหนดปฏิทินคร่าวๆ แล้วว่า จะดำเนินการรับสมัครเดือนพฤษภาคม และจัดสอบเดือนมิถุนายน

ดร.อัมพร กล่าวอีกว่า หลังจากสอบครูผู้ช่วย สพฐ.จะดำเนินการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16 ต่อเนื่องกันไปตามลำดับ เพราะ สพฐ.เว้นว่างการสอบ ว16 เป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงต้องการที่จะเติมครูเข้าไปในระบบให้ทัน ส่วนการสอบผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ก็มีแผนจัดสอบเช่นกัน โดยวางแผนไว้ว่าจะดำเนินการสอบหลังจากสอบครูผู้ช่วยแล้วเสร็จ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินการสอบรองผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมในคราวเดียว เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments