เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธานปิดโครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชุน พร้อมมอบเกียรติบัตรให้ผู้สนับสนุนโครงการฯ ได้แก่ นางสาวสุกัญญา ศรีพิพัฒน์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 4 นายฉัตรมงคล ประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว และนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่งผู้ซึ่งเป็นวิทยากร และมอบวุฒิบัตรกับประขาชนผู้ผ่านการอบรม จำนวน 60 คน รวมทั้งมอบเครื่องมือให้แก่ช่างชุมชนตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนางฐิรนันท์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
เรืออากาศโท สมพร เปิดเผยว่า โครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน ปี 2566 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และธนาคารออมสิน ที่มีสัมฤทธิ์ผลในการพัฒนาทักษะนักเรียน นักศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดความรู้ มีจิตอาสาช่วยเหลือ ประชาชน ชุมชน เพื่อเสริมทักษะเดิม สร้างทักษะใหม่ ให้สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้เอง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน หรือพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มเติมจนสามารถนำไปประกอบอาชีพ รวมถึงผู้ผ่านการอบรมที่ต้องการประกอบอาชีพช่างชุมชน สามารถสร้างความมั่นคงและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารออมสินยังสนับสนุนสินเชื่อให้เป็นทุนในการประกอบอาชีพใหม่อีกด้วย ซึ่งการดำเนินงานโครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน ปี 2566 วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่งดำเนินการร่วมกับธนาคารออมสินจัดอบรมหลักสูตรวิชาชีพ 30 ชั่วโมง จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ ช่างซ่อมเครื่องยนต์และเครื่องกลการเกษตร และช่างซ่อมและประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์/โน้ตบุ๊กครูที่ปรึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นประชาชนในชุมชนตำบลลาดบัวขาว 7 หมู่บ้าน หลักสูตรละ 20 คน รวมจำนวน 60 คน และมีครูและนักศึกษาจิตอาสาที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากร รวมกว่า 70 คน โดยจัดอบรม จำนวน 4 วัน 30 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2566 ณ วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งโครงการนี้ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ทั้งผู้เรียนอาชีวศึกษา และประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน เป็นโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในระดับฐานรากให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กลุ่มชุมชน และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้คำกล่าว “เสริมความรู้ สร้างอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยธนาคารออมสินได้สนับสนุนงบประมาณให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 400,000 บาทต่อสถานศึกษา ทั้งหมด 54 แห่ง เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา นำความรู้ความสามารถด้านวิชาช่าง งานฝีมือ ถ่ายทอดสู่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้ ความสามารถด้านวิชาช่าง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตลอดจนต่อยอดความรู้สามารถ นำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งในแต่ละสถานศึกษาจะต้องดำเนินโครงการฯ กับชุมชน 3 แห่ง โดยจัดเวทีประชาคมสอบถามความต้องการในการอบรมหลักสูตรต่างๆ ร่วมกับธนาคารออมสินภาคในพื้นที่ เมื่อทราบความต้องการของชุมชนแล้ว นักเรียน นักศึกษา จะดำเนินการอบรมทฤษฎี และปฏิบัติ ไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง/หลักสูตร และจัดเวทีนำเสนอผลสัมฤทธิ์เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ เมื่อดำเนินโครงการฯ เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ผ่านการอบรม หรือนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่คาดว่าจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริม สามารถเสนอข้อมูลให้ธนาคารออมสินพิจารณาการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างผู้ประกอบการช่างฝีมือรายใหม่ (คนต้นแบบ) เพื่อธนาคารออมสินจะได้สนับสนุนการเปิดกิจการ และพัฒนาทักษะจนสามารถประกอบเป็นอาชีพหลัก เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ได้จริง และหากประชาชนผู้ผ่านการอบรมที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป เห็นว่าการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมสามารถนำไปประกอบอาชีพ หรือทำเป็นอาชีพเสริมแล้วมองเห็นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ต้องการต่อยอด หรือขยายกิจการ สามารถนำวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมยื่นขอสินเชื่อออมสินสร้างงานสร้างอาชีพกับทางธนาคารออมสินได้ เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง และเป็นการสร้างโอกาสเพื่อความยั่งยืนต่อไป