เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ทึ่กระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวการจัดงาน “การสัมมนานานาชาติว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ร่วมกับ รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) และ รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รัฐบาลจึงเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวันที่ 6 พ.ค.2566 นั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบ 100 ปีวันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และมีแผนงานจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว แบ่งเป็นภาคระดับกระทรวง ภาคประชาชน ภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆในพระอุปถัมภ์ ซึ่งมูลนิธิ สอวน. กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกันจัดการสัมมนานานาชาติ ในประเด็นสำคัญต่ออนาคตการศึกษาของโลก ภายใต้หัวข้อ International Conference on Mathematics and Science Education in the Post COVID-19 Era: Global Issues Awareness ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

“ทั้งนี้เพื่อร่วมกันหาหนทางการก้าวผ่านผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งงผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาสำหรับเยาวชนทั่วโลก และค้นหาอุปสรรคแนวทางแก้ไขร่วมกันเพื่อต่อยอดพัฒนาการศึกษา สร้างคนคุณภาพ ขับเคลื่อนอนาคตโลกด้วยฐานความรู้วิทยาศาสตร์ศาสตร์ คณิตศาสตร์ต่อไป ซึ่ง
การสัมมนานานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ on site โดยได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม พร้อมทั้งทรงปาฐกถาพิเศษ และทอดพระเนตรนิทรรศการทางวิชาการ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ไทยและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก จะได้ตระหนักถึงความสำคัญของวาระเฉลิมฉลองนี้ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวงการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวางทั่วกัน” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.พินิติ  กล่าวถึงงานสัมมนาในระดับนานาชาติครั้งนี้ว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID -19 ได้สร้างผลกระทบต่อการศึกษาของเยาวชนทั่วโลก โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่สามารถสร้างทักษะปฏิบัติให้ผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ มูลนิธิ สอวน.จึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานในสังกัดจัดงานสัมมนาในระดับนานาชาติครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้นานาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาอันนำประโยชน์มาสู่ประชาคมโลกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอันดีของสังคมโลกด้วย

ขณะที่ นายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสจัดงานอันทรงเกียรติครั้งนี้ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. โดยได้ร่วมกันวางแผนงานและกิจกรรม
เฉลิมฉลอง 3 ระยะ คือ ระยะสั้น– กลาง -ยาว แบ่งเป็นการเฉลิมฉลองในระดับกระทรวง และระดับภาคประชาชน ภาคเอกชนและมูลนิธิต่าง ๆ ในพระอุปถัมภ์ โดยงานสัมมนานานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบ on site นับเป็นกิจกรรมแม่เหล็กที่คาดว่าจะดึงดูดผู้ร่วมงานทั้งในประเทศและจากนานาประเทศได้ประมาณ 500 คน สามารถส่งต่อแนวทางในการเยียวยาระบบการศึกษาหลังวิกฤตการณ์ COVID-19

ส่วน ดร.พัฒนะ กล่าวว่า การสัมมนานานาชาติฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่ระดมความคิดของนักการศึกษา นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีต่อผลกระทบภายหลังการระบาดของโรค COVID -19 ใน 3 ประเด็นคือ 1. Talented Students ปัญหาของกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาและการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนกลุ่มนี้ให้สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ 2. Inclusive Education ปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้การกระจายตัวของการศึกษาไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรค COVID -19 ซึ่งนักเรียนบางกลุ่มไม่สามารถเรียนหนังสือได้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติการ เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ในสังคม และ 3. Digital Transformation การปิดสถานศึกษาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาการเรียนการสอนในระหว่างและหลังการระบาด ซึ่งแนวทาง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่ตกผลึกจากการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันเสริมความแข็งแรงให้ระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ของไทย สร้างเยาวชนคุณภาพรองรับอนาคตอีกด้วย

รศ.ดร.ธีระเดช  กล่าวว่า ตลอด 3 วันของงาน ได้จัดการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อที่ทันสมัย ดึงดูดความสนใจ จากประสบการณ์ของนักวิชาการชั้นนำและนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ การบรรยายงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล, การบรรยายของนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งเป็นผู้ที่พัฒนาวัคซีน mRNA ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19, รับฟังมุมมองอันแหลมคมจากนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงในเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์, การเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคดิจิทัล พร้อมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติและการแสดงผลงานของบุคลากรทางการศึกษาอีกหลากหลาย จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปติดตามการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ไปพร้อมกัน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments