เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ว่า ปีที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออาคารสถานที่ รวมทั้งอินเตอร์เน็ต และสื่อการเรียนการสอนต่างๆ จึงอยากให้เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนนำสิ่งเหล่านี้มาทบทวนว่าปีที่ผ่านมา มีอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตหรือตัวผู้เรียนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และถ้าเราจะจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม ในภาคเรียนที่ 1/2566 จะเตรียมการอย่างไร
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อยากให้เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 4 ประเด็น คือ 1.ทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัย และมีความสุขทั้งครูและนักเรียน โดยให้ไปตรวจสอบและประเมินว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้นักเรียนและครู ไม่ปลอดภัย และจะมีวิธีร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างไร เพื่อจะทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัย 2.การสร้างโอกาสทางการศึกษา แม้ขณะนี้เราผ่านพ้นช่วงเวลาการรับนักเรียนมาแล้ว แต่ทุกโรงเรียนจะต้องวิเคราะห์ได้แล้วว่า มีนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการมาเข้าเรียนในโรงเรียนจำนวนเท่าไหร่ ไปเรียนที่อื่นเท่าไหร่ และการรับนักเรียนของตนลดหรือเพิ่มขึ้น หากวิเคราะห์ได้แล้วจะสามารถวางทิศทางอนาคตในการให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียนได้ โดยมีเป้าหมายว่าเด็กจะต้องได้เรียนทุกคน อีกทั้งปัจจุบัน จะพบข่าวว่าเชื้อ โควิด-19 อาจจะกลับมาแพร่ระบาดอีก จึงอยากให้โรงเรียนสื่อสารกับนักเรียน ผู้ปกครองเพื่อป้องกันการระบาด และร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สธจ.) ให้มีการตรวจสอบและป้องกันเพื่อไม่ให้โรงเรียนเป็นศูนย์รวมของการระบาดเหมือนปีที่ผ่านมา
ดร.อัมพร กล่าวว่า ประเด็นที่ 3. เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดการเรียนรู้ โดยวางแผนการจัดทำหลักสูตร และวางแผนจัดครูเข้าชั้นเรียน ให้นักเรียนได้รับคุณภาพการศึกษาที่มากขึ้น อีกทั้ง ช่วงนี้เป็นฤดูโยกย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นเขตพื้นที่ฯ ต้องวิเคราะห์ว่ามีย้ายเข้า-ย้ายออก เท่าไหร่ โรงเรียนมีผู้บริหารและครูครบหรือไม่ การเปิดภาคเรียนที่ 1/2566 นี้ จะเกิดวิกฤตอะไรบ้าง โดยเขตพื้นที่ฯ จะต้องเตรียมการให้เข้ากับสภาพปัญหาและบริบทที่มีอยู่ และ 4.การเตรียมความพร้อมอาคารสถานที่ และการจัดการเรียนการสอน โดยเขตพื้นที่ฯ จะต้องสำรวจว่าแต่ละโรงเรียนต้องการ การช่วยเหลือด้านใดบ้าง และเขตพื้นที่ฯ จะแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือแต่ละโรงเรียนอย่างไร
“สำหรับเรื่องการย้ายครูรอบนี้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ประจำเขตพื้นที่การศึกษา มีเวลาพิจารณาการย้ายได้ถึงวันที่ 30 เมษายนเท่านั้น หลังวันที่ 30 เมษายน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ไม่สามารถพิจารณาย้ายได้แล้ว เนื่องจากขัดกับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด อีกทั้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้มีมติปรับปรุงรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยกำหนดระยะเวลาสอบภาค ค ไม่เกิน 20 นาที ต่อผู้สมัครหนึ่งราย และให้อำนาจ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้บริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดสอบ สอบ ภาค ก และ ภาค ข ซึ่ง สพฐ.คาดว่าจะจัดสอบเป็นคลัสเตอร์ในภูมิภาค โดยจ้างสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาออกข้อสอบ ดังนั้น เมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการย้ายครูวันที่ 30 เมษายน ครบถ้วนแล้ว สพฐ.จะมีหนังสือสำรวจไปยังเขตพื้นที่ฯ ว่าแต่ละเขตพื้นที่ฯ ต้องการสอบครูจำนวนเท่าไหร่ วิชาเอกอะไรบ้าง เพื่อ สพฐ.จะได้วางแผนจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพให้ไปดำเนินการต่อไป