วันที่ 24 เมษายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการและบริการทางการศึกษา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีผู้แทนจากสองหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดย ดร.อัมพร กล่าวว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการและบริการทางการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือกันเพื่อผลักดัน สนับสนุนให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ.จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ มีการเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนกับสวนสัตว์ทั้ง 7 แห่งขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และกลุ่มสาระการเรียนรู้ พร้อมทั้งการวัดและประเมินผล เพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยผลที่จะเกิดกับนักเรียน คือ นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ได้ฝึกทักษะการสังเกต การตั้งคำถาม การคิด การแก้ไขปัญหา ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกันตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในทุกระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งขยายผลไปสู่การเรียนรู้เชิงบูรณาการในอนาคต
ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ฯ มีสวนสัตว์ในสังกัด ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ให้บริการด้านการเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งภารกิจด้านการศึกษาขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ส่งเสริมให้เยาวชนมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำไปพัฒนาบริการทางการศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อสัตว์ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงการเรียนรู้ในสวนสัตว์กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “เป็นแหล่งเรียนรู้ ท่องเที่ยว และอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย สู่สวนสัตว์ชั้นนำในอาเซียน” จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรพร้อมกับรักษามาตรฐานการดำเนินงานของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้อยู่ในระดับสากล เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 ที่กำหนดแนวทางการจัดการศึกษา ในมาตรา 25 ซึ่งการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการและบริการทางการศึกษา ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ 2 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนา ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ของทั้ง 6 สวนสัตว์ และ 1 โครงการ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยบันทึกความเข้าใจความร่วมมือนี้ มีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป
ทั้งนี้ สวนสัตว์ 6 แห่ง 1 โครงการ ในสังกัดองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ 1. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี 2. สวนสัตว์เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 3. สวนสัตว์สงขลา จังหวัดสงขลา 4. สวนสัตว์นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 5. สวนสัตว์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 6. สวนสัตว์อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และ 7. โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์