เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการจัดทำหลักการของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ…. เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานและกำหนดระยะเวลาการจัดทำกฎหมายที่ชัดเจน โดยที่ประชุมมีข้อห่วงใยในหลายประเด็น เช่น ความสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในประเด็นการจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตร เนื่องจากใน ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษากำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตร แต่ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ผ่านสภาฯ ขณะที่พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ.2566 ไม่ได้กำหนดให้มีสถาบันพัฒนาหลักสูตร ที่ประชุมจึงขอให้ ตัดเรื่องนี้ออกไปก่อน และอีกประเด็น คือ ต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาของกศน.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันซึ่งเท่าที่ดูอาจจะไม่ทันการณ์ ดังนั้นคณะกรรมการจะต้องไปหาทางออกของเรื่องนี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการติดตามความคืบหน้าของการจัดทำกฎหมายลำดับรอง การจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และการถ่ายโอนทรัพย์สิน และงบประมาณด้วย
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แสดงความห่วงใยบางเรื่องที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยเฉพาะเรื่องของโครงสร้างกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เนื่องจากเคยมีมติคณะ รัฐมนตรีและระเบียบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.)ที่ไม่ให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ซึ่งมีมานานแล้ว เพราะจะมีปัญหาเรื่องของบุคลากร ตำแหน่ง ซึ่งต้องผูกพันกับงบประมาณ แต่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ได้กำหนดให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ ซึ่งค้านกับมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบ กพ. ดังนั้นจะต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อดูว่าตำแหน่งในโครงสร้าง กศน.เดิมกับโครงสร้างกรมส่งเสริมการเรียนรู้มีเพียงพอกันหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้จะไม่จบง่าย ๆ และ ตอนนี้ก็กลับไปเป็นอารมณ์เหมือนเมื่อตอน มี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กว่าจะปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการได้ก็ต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพราะฉะนั้นครั้งนี้ตนคิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเสร็จสมบูรณ์