เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่โรงแรมเซนทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์  แจ้งวัฒนะ กรุงเทพสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การประชุมวิชาการระดับชาติ “2 ทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา”เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 ของ สมศ.  โดย ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาและได้มุ่งปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย อาทิ ปัญหาคุณภาพผู้เรียน ปัญหาการพัฒนาครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนวัตกรรมทางการศึกษา การเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปัญหาด้านความร่วมมือและการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจเอกชนเพื่อการศึกษาอบรมและการวิจัย

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การวัดและประเมินผล ถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญและจำเป็นของทุกองค์กร ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และต้องมีการประเมินผลโดยองค์กรภายนอกด้วยเพื่อให้ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ต้องมีการพัฒนาระบบและกระบวนการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อให้การตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษามีผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง ผลการประเมินตรงตามสภาพความเป็นจริง  สถานศึกษาและต้นสังกัดนำผลการประเมินไปปรับปรุง พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

“ขอแสดงความยินดีที่ สมศ. มีการพัฒนารูปแบบและหลักเกณฑ์ในการประเมินที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และบริบทของสถานศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ สมศ. กำลังพัฒนาและจะประกาศใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายนอกหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยปรับรูปแบบการประเมินเป็นแบบ Hybrid ที่มีการผสมผสานระหว่างการประเมิน Onsite และการประเมิน Online ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมศ. สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงพื้นที่จะทำให้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประเมินเห็นสภาพจริงและมีความแม่นยำของผลการประเมินที่เพิ่มขึ้นด้วย และเน้นย้ำหลักการสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับสถานศึกษา ให้การประเมินเป็นไปอย่างกัลยาณมิตร อย่าให้สถานศึกษารู้สึกว่าถูกจับผิด แต่ให้เป็นลักษณะของการแนะนำ ส่งเสริม ช่วยเหลือกันและกันด้วยความเต็มใจ ให้สถานศึกษารู้สึกว่าการประเมินของ สมศ. เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา ภายใต้หลักการ กัลยาณมิตร คุณภาพ จริยธรรม คุณธรรม”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการ  สมศ. กล่าวว่า สมศ.ได้ดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกมาครบ 22 ปี โดยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้สอดรับกับการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่องค์กรดิจิทัล เพื่อให้เป็นการประเมินอย่างมีมาตรฐาน ลดภาระงานด้วยเทคโนโลยี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ด้วยการนำเอาแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ตามภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การอบรมพัฒนาผู้ประเมินภายนอกแบบออนไลน์ การจัดประชุมเสวนาออนไลน์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกและการดำเนินงานของ สมศ. ให้กับสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดได้รับทราบผ่านช่องทาง Facebook Live รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ประธาน สมศ. กล่าวว่า  สมศ. ได้พัฒนากรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา (ภายหลังสถานการณ์โควิด-19) โดยมีการลงพื้นที่จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นกรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษาทั่วประเทศ 4 ภูมิภาค แล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขก่อนการประกาศใช้กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา โดยได้พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินแบบ Hybrid ผสมผสานระหว่างการประเมินในพื้นที่และการประเมิน Online เพื่อลดภาระสถานศึกษาและให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 23 สมศ. “2 ทศวรรษแห่งการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพการศึกษา” มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สมศ. จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต่อสถานศึกษาและสาธารณชน พร้อมกับเติมเต็มความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์องค์กรต่อสังคม โดย สมศ. มีเป้าหมายการประเมินคุณภาพภายนอก และวางกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรในอนาคตให้พร้อมเป็นองค์กรอัจฉริยะ เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลที่มีความพร้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานขององค์กร และทุกขั้นตอนการประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อรองรับความก้าวหน้าและการพัฒนาระบบทางการศึกษาในอนาคต” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments