ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดศูนย์ “อาชีวะช่วยประชาชน” ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 จำนวน 78 ศูนย์ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวด้วยพาหนะรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมาก โดย “ศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชน” ให้บริการประชาชนในการตรวจสภาพรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และให้บริการอื่นๆ ซึ่งได้รับการรายงานมีจำนวนประชาชนมารับบริการในช่วงดังกล่าว 11,045 คน จำนวนรถมารับบริการรวม 9,312 คัน โดยรถที่มารับบริการสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 6,772 คัน รองลงมาคือ รถกระบะ/ปิกอัพ 1,423 คัน รถยนต์ 1,013 คัน รถตู้ 84 คัน และรถอื่นๆ 20 คัน การให้บริการที่สูงสุดเป็นการตรวจเช็คสภาพรถให้พร้อมใช้งาน อาทิ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ตรวจสภาพยางรถ ใส้กรองรถยนต์ ผ้าเบรก รวมถึงไฟส่องสว่าง และการให้บริการอื่นๆ ของศูนย์ฯ ที่ได้รับความนิยม เช่น การบริการเครื่องดื่ม อาทิ น้ำชา กาแฟ ผ้าเย็น น้ำเย็น จุดนั่งพักคน พักรถ การสอบถามข้อมูลเส้นทาง/การท่องเที่ยว ที่พักหรือโรงแรม หมายเลขโทรศัพท์ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถ และชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูป เป็นต้น โดยศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีผู้มาใช้บริการมากที่สุด ซึ่งมีทั้งผู้ที่เข้ามาใช้บริการโดยตรง และผู้ที่ประสบปัญหาระหว่างทางต้องให้ศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชนออกไปรับรถมาดูแลอาการเบื้องต้น ก่อนส่งเข้าอู่ซ่อมรถ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา มีประชาชนมาขอรับบริการเนื่องจากรถยนต์เกิดปัญหาไม่สามารถเดินทางต่อได้ และอู่ซ่อมรถยนต์ปิดไม่มีช่าง ทางศูนย์อาชีวะ ช่วยประชาชน วิทยาลัยการอาชีพบ้านลาด ได้ให้การดูแล แก้ไข และซ่อมแซ่มรถยนต์ จนสามารถใช้งานได้เป็นปกติ โดยประชาชนที่มารับบริการได้โพสต์ข้อความแสดงความชื่นชมและขอขอบคุณ ซึ่งนับว่าเป็นกำลังใจแก่ ครู นักเรียน นักศึกษา เป็นอย่างมาก และได้เห็นถึงการเป็นจิตอาสา ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ เช่น ศูนย์ของวิทยาลัยเทคนิคบางแสน ได้ดำเนินการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร จากอุบัติเหตุที่เกิดใกล้ศูนย์ และในวันที่ 16 เมษายน 66 ศูนย์วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ให้ความช่วยเหลือรถลาก เนื่องจากแบตเตอรี่รถยนต์หมด โดยทางศูนย์ให้พักคน พักรถ และชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ให้จนสามารถไปต่อได้
“นักศึกษาที่อยู่ประจำศูนย์วันนั้นเป็นนักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีทักษะที่รับจากการเรียน มีประสบการณ์และมีความรู้เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ โดยมีครูเป็นผู้ควบคุม นับเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับทั้งครู และนักเรียน นักศึกษาในการได้ทำประโยชน์ต่อสังคม การมีจิตอาสา ได้เรียนรู้ทักษะชีวิต เกิดทักษะสังคม ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับทักษะอาชีพ การได้เรียนรู้และการได้รับประสบการณ์จากการทำงานในสถานการณ์จริง และรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมก้าวออกไปสู่โลกอาชีพด้วยความมั่นใจ เป็นกำลังคนอาชีวะที่มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ต่อไป”เลขาธิการ กอศ.กล่าว