วันที่ 28 พ.ย. นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  ว่าที่ประชุมได้หารือถึงข้อร้องเรียนของกลุ่มศึกษานิเทศก์ กรณีไม่สามารถสมัครสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เนื่องจากขาดคุณสมบัติ  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก ซึ่งกำหนดให้ เจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน/ศึกษานิเทศก์(ศน.) หรือดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือตำแหน่งครู ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการหรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ก.ค.ศ.เทียบเท่า สามารถสมัครคัดเลือกได้ ทำให้กลุ่มศึกษานิเทศก์ ซึ่งไม่ได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม  แต่เคยเป็นครูชำนาญการ ไม่สามารถสมัครสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้  ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติ ปรับเพิ่มคุณสมบัติผู้สมัคร โดยเปิดโอกาสให้ศึกษานิเทศก์ ที่เคยเป็นครูชำนาญการสามารถสมัครสอบคัดเลือกผู้อำนวยการโรงเรียนได้ด้วย  ทั้งนี้เพื่อเป็นการกว้างให้กลุ่มดังกล่าวเลื่อนไหลส็ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า   นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ซึ่งตนได้ถามในที่ประชุมว่า เกณฑ์ที่ดำเนินการอยู่ถือว่า ดีที่สุดหรือไม่ เพราะ ที่ผ่านมาการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา จะใช้วิธีการสอบคัดเลือกเช่นเดียวกันการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งดร.บุญรักษ์  ยอดเพชร  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ความเห็นว่า  หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาปัจจุบัน  ก็ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด แต่ตอนนี้คงไม่สามารถปรับแก้ได้ทันเพราะใกล้จะถึงเวลาสอบคัดเลือก เกรงว่าจะทำให้เกิดความโกลาหล แต่ในส่วนของการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ยังสามารถปรับแก้ได้ทัน  เพราะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ดังนั้นจึงมอบหมายให้สำนักงานก.ค.ศ. และสพฐ. ไปหาหลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสม  ซึ่งอยากให้เป็นวิธีที่ดีที่สุด และหากเกณฑ์คัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่กำลังจะออกใหม่ เป็นหลักเกณฑ์ที่ดี  ก็ให้นำไปปรับในหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาด้วย

“ในที่ประชุมยังได้หารือถึงการดำเนิน การดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ  ซึ่งเปิดโอกาสให้ครูอัตราจ้างที่ปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถสอบคัดเลือกเป็นครูผู้ช่วยได้  ทั้งนี้ที่ผ่านมาการคัดเลือกจะใช้วิธีการสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ในมาตรา 50 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ว่า กรณีที่ต้องการคัดเลือกบุคลากรที่มีความจำเป็นมาบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วย หรือมีเหตุพิเศษ  ให้ดำเนินการโดยวิธีการอื่นได้  ดังนั้นการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพิเศษโดยการสอบอย่างเดียวก็สวนทางกฎหมาย ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ก.ค.ศ.ไปจัดทำเกณฑ์กลางในการคัดเลือกครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ โดยให้ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัดเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมมาให้ก.ค.ศ.พิจารณา   ยกตัวอย่างเช่น กรณีครูอัตราจ้างที่มีอายุมากแล้ว แต่โรงเรียนหรือพื้นที่เห็นว่ามีความจำเป็น ก็ให้ กศจ. เสนอหลักเกณฑ์การคัดเลือกมาให้ก.ค.ศ.พิจารณา แต่จะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์กลางที่ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อให้สามารถรับเป็นครูผู้ช่วยได้ทันที โดยไม่ต้องสอบอีก ดังนั้นตรงนี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับครูอัตราจ้างซึ่งมีความจำเป็น”นพ.ธีระเกียรติ

ดร.บุญรักษ์  กล่าวว่า สพฐ.ได้กำหนดปฏิทินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาแล้ว  ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัครภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 รับสมัคร วันที่ 3-9 มกราคม 2562 สอบข้อเขียน 19 มกราคม 2562 สอบสัมภาษณ์ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments