วันที่ 28 พ.ย. ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) น.ส.อังคณา  อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย นายอินรอน  เชษฐวัฒน์  แกนนำเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา เครือข่ายเยาวชน นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่เคยถูกกระทำด้วยความรุนแรง ประมาณ 30 คน ได้เข้า ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์  รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องให้เพิ่มหลักสูตรความเสมอภาคระหว่างเพศและ บรรจุในตำราเรียน เช่น มีการเพิ่มกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยมี ดร.วีระกุล อรัณยะนาค  ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับเรื่องแทน

น.ส.อังคณา กล่าวว่า เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนในหลักสูตรการเรียนการสอน ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ การให้เกียรติเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น ซ่อนความคิดแบบชายเป็นใหญ่ มีส่วนในการบ่มเพาะความคิดความเชื่อที่ผิดๆ  มีส่วนทำให้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวในสังคมไทยทวีความรุนแรง สะท้อนจากข่าวความรุนแรงทางเพศ ซึ่งอันดับหนึ่งเป็นข่าวข่มขืน รองลงมาเป็นข่าวอนาจาร และข่าวพยายามอนาจาร ที่ผู้กระทำเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือเป็นบุคคลในครอบครัว ขณะที่อายุของผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปี และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งถือเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศที่ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่า และจากปัจจัยกระตุ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด

ทั้งนี้ เนื่องจาก ในวันที่ 25 ธ.ค.ของทุกปีเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งในปี 2561 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ผลักดันมาตรการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจ ป้องกันและแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้จึงได้มีข้อเสนอต่อ ศธ.ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุง ดังนี้ 1.การตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรเจนเดอร์ (Gender) หรือความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Equality) ไปปรับใช้ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา 2.ให้ความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทุกเพศ ทุกวัย เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตนเองและผู้อื่น ควรพัฒนา ปรับหรือแก้ไข และยกเลิกหลักสูตรที่มีการกดทับ ตอกย้ำความคิด ความเชื่อในการมองว่าเพศชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ 3.พัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ปรับความคิดของครูให้มีความรู้ ความเข้าใจในการเคารพ สิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเองและผู้อื่น มีแนวทางการสอนที่สอดคล้องกับ 3 ช่วงวัย คือ เด็กเล็ก เด็กก่อนวัยรุ่น และวัยรุ่น และ4. ผลักดันให้แต่ละสถานศึกษาจัดกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรง ต่อผู้หญิง และเด็ก ในเดือนพฤศจิกายนของทุกๆปี

​ด้าน นายอินรอน  กล่าวว่า ศธ.ต้องทบทวนการเรียนการสอน ต้องสอนให้เด็กเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และผลักดันให้มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศให้มากขึ้น  ส่วนครูผู้ปกครองต้องเน้นสอนลูกหลานให้เท่าทันมิติต่างๆ ที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องไม่ครอบงำความคิดของเด็ก ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกอย่างเหมาะสม เพราะยุคนี้เป็นยุคที่วิชาลอยอยู่กลางอากาศ เด็กอยากรู้อยากเห็น คลื่นของข้อมูลมีจำนวนมาก ดังนั้นอย่าไปจำกัดความคิดของเด็ก อย่าไปยัดเยียด แต่ต้องกระตุ้นให้เด็กคิดอย่างหลากหลาย

ขณะที่ ดร.วีระกุล กล่าวว่า ตนขอชื่นชมในความห่วงใยที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายผู้ปกครองและนักศึกษาฯ มาร่วมให้ข้อเสนอแนะที่ดี ซึ่งจะนำเรียนต่อ นพ.ธีระเกียรติ ได้รับทราบและคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ศธ.มีนโยบายที่จะต้องดูแลเด็กและเยาวชนทั้งกายและใจ และในการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมาก็ได้เน้นย้ำเรื่องสิทธิความเสมอภาค ระเบียบวินัยอยู่แล้ว ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments