เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมสรุป “ผลการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21” โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.คมกฤช จันทร์ขจร รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) และนายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมนำเสนอ
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันดำเนินงานตามนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาจนประสบผลเป็นรูปธรรม ในหลายเรื่อง เช่น โครงการพาน้องกลับมาเรียนที่สามารถนำเด็กทั้งเด็กด้อยโอกาส คนพิการ รวมถึงนักเรียนทั่วไป กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกเหนือจากนำเด็กกับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วยังได้ทำควบคู่ไปกับโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โดยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษา 88 แห่ง ที่รองรับต่อยอดทั้งเรื่องการศึกษาและสร้างอาชีพให้กับเด็ก ๆ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกลางมาให้ ขณะเดียวกันก็มีการขับเคลื่อนหลักสูตรทวิศึกษาที่เป็นการสร้างโอกาสให้เด็กที่เรียนสายสามัญได้เรียนวิชาชีพควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นทางเลือกในการเข้าถึงโอกาสสร้างอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ด้วย และยังมีเรื่องของการสร้างโรงเรียนคุณภาพที่เป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาส รวมถึงขยายผลกลุ่มโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศโดยมีการจัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อปรับปรุงกายภาพให้มีความพร้อมมากขึ้น
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้มิติของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ ก.ค.ศ.ได้มีการปรับระเบียบ เรื่องของการประเมินต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงมีการจัดอัตราครูและผู้บริหารเพื่อให้สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง และ ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ทั้งการลดดอกเบี้ย การสร้างเครือข่ายกับสถาบันการเงินเพื่อไกล่เกลี่ยและชลอการฟ้องร้องได้ถึง 20,000 กว่าราย และยังมีเรื่องของอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ(อส.ศธ.) ที่ได้มีการสร้างเครือข่ายเพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกษียณอายุราชการไปแล้วได้กลับเข้ามาช่วยเหลือกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน