สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)โดยสำนักความร่วมมือ ได้จัดโครงการฝึกอบรมให้ความรู้ครูและบุคลากรในสาขาวิชาเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของสถานศึกษา”การติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็กที่ใช้สารทำความเย็น R32″และการทดสอบการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แก่ผู้เข้ารับการอบรม โดยความร่วมมือ ระหว่าง สอศ.กับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัทสยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ณ วิทยาลัยเทคนิคเลย โดยมี นายบุญส่ง จำปาโพธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้
นายทวีศักดิ์ มาลัยวิจิตร ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ในฐานะฝ่ายประสานความร่วมมือ กล่าวว่า ขณะนี้สอศ.ได้จัดทำหลักสูตรเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศโดยแยกออกมาเป็นอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งจะเปิดสอนในปีการศึกษา 2562 ซึ่งเราต้องเตรียมบุคลากรจึงจัดเตรียมการอบรมเรื่องนี้เพื่อให้สถานประกอบการซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้มาถ่ายทอดให้กับครู ซึ่งครูที่มาอบรมก็จะได้ประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานด้วย เพราะในปี 2562 กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะบังคับใช้ว่าคนที่จะประกอบอาชีพนี้จะต้องมีใบประกาศฯตัวนี้ ไว้ในระดับหนึ่งก่อน ถ้าไม่มีจะถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งก็จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมมือและครั้งต่อไปก็จะจัดฝึกอบรมแบบเดียวกันนี้ที่ จังหวัดเชียงใหม่
“ครูที่มาอบรมส่วนใหญ่จะเป็นครูสอนวิชาเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เพื่อจะได้ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับเด็กใช้ในการเรียนการสอน เพราะผมได้ประสานกับทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขออุปกรณ์เครื่องมือมาให้ฝึก เพรราะถ้ารอเครื่องมือจากสอศ.เองจะช้า”นายทวีศักดิ์ กล่าว
นายศุภกฤษ อธิขจรสุข ผู้จัดการแผนกฝึกอบรม บริษัทสยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ ซึ่งต่อไปทางสอศ.ก็จัดร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อจะขยายบุคลากรของอาชีวะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรสมัยก่อนอาจจะไม่ทันสมัย ดังนั้นเพื่อให้ตอบโจทย์กับทางด้านแรงงานอุตสาหกรรม บริษัทสยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ก็เลยคิดว่าจะต้องมาช่วยพัฒนาเด็กมารองรับตลาดแรงงานให้ตรงกับเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศไดกิ้นเซลล์ ของวงการที่จะมาเป็นช่างแอร์
นายศุภกฤษ กล่าวต่อไปว่า ระหว่างการอบรมกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะส่งอาจารย์มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็จะมีการทดสอบเพื่อเอาใบประกาศฯ ใครผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานก็จะได้ใบเซอร์ไป ซึ่งเป็นใบรองรับมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับหนึ่ง จะเป็นเครื่องการันตีได้ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าอาชีพนี้จะมีกฎหมายมาควบคุมเรื่องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ด้านนายบุญธรรม อุดมศิลป์ อาจารย์แผนกวิชาช่างไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร กล่าวว่า ตนสอนวิชาช่างมากว่า 20 ปีแล้ว แต่เครื่องมือที่มาสอนเด็กมีแต่เครื่องมือเก่า ๆ ยังไม่ทันสมัย ดังนั้นการมาอบรมครั้งนี้ถือว่าเราได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากบริษัทไดกิ้นฯ เยอะมาก สามารถนำไปสอนเด็กได้ และที่สำคัญมาเจอเพื่อนครูที่สอนในสาขาเดียวกันก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แชร์ประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน แล้วก็ได้ความรู้จากวิทยากรด้วย
“ผมทราบมาว่า ในปี 2562 วิชาเครื่องปรับอากาศจะประกาศเป็นกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเด็กจะต้องผ่านมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาการสอนอาจจะไม่ตรงกับแนวมาตรฐานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้นเราก็จะไปปรับกระบวนการสอน ปรับวิธีการสอนให้เข้ากับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อเด็กอายุครบ 18 ปี ตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถพาเด็กไปสอบได้ และที่สำคัญวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร สามารถตั้งเป็นศูนย์ทดสอบได้ โดยขณะนี้กำลังขออนุญาตเปิดเป็นศูนย์ทดสอบในสาขาวิชาปรับอากาศซึ่งจะเป็นจุดสนใจที่จะให้นักเรียน นักศึกษาเข้ามาเรียนด้วย”กล่าวและว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ที่สำคัญตัวเราอย่าคิดว่าเราสอนมา 20 ปี เราจะเก่ง เพราะตอนนี้เทคโนโลยีทันสมัยและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่แน่ว่าเราอบรมครั้งนี้ ปีหน้าจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาอีกหรือไม่