เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่ วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  ดร.อรรถพลสังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2566 ว่า หลังจากยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 19/2560   ส่งผลให้ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคต้องปรับเปลี่ยนบทบาทในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ คือการปรับบทบาทจากผู้สั่งการ บังคับบัญชามาเป็นโซ่ข้อกลางในการขับเคลื่อนการทำงานเชิงพื้นที่  ซึ่งตนจะเชิญ หัวหน้าส่วนราชการองค์กรหลัก ทั้ง 3แท่ง มาประชุมเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาเชิงพื้นที่ร่วมกัน โดยให้บทบาทของศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคเป็นตัวแทนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ที่จะเป็นผู้ประสานให้เกิดการขับเคลื่อนงานในแนวทางการจัดการเรื่องคุณภาพวิชาการอย่างแท้จริง

จากนี้ไปเมื่อมีข้อมูลมา เช่น ข้อมูลในการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือระดับอาชีวศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดจะได้ข้อมูลจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และอาชีวศึกษาจังหวัด ก็ต้องมาดูสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ผู้เข้าสู่ระบบการศึกษาว่า มีความสอดคล้องและมีความเป็นไปได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลวิชาการจากสภาการศึกษาซึ่งมีงานวิจัยทั้งเรื่อง learning loss หรือ next skill ที่จะมีในเชิงพื้นที่ก็จะขับเคลื่อนผ่านไปยังศึกษาธิการจังหวัด เช่นกัน ดังนั้นศึกษาธิการจังหวัดก็จะเป็นโซ่ข้อกลางพูดคุยกับเขตพื้นที่การศึกษา และอาชีวศึกษาจังหวัด ในการวางแผนร่วมกันขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง รวมถึงการลำดับ 7อาชีพที่สำคัญ ในพื้นที่ด้วย โดยล่าสุดผมได้มีข้อสั่งการให้แต่ละจังหวัดไปดูว่า จริง แล้วในแต่ละพื้นที่ มีความต้องการ 7 อาชีพอะไรบ้างและส่วนการศึกษาในพื้นที่สามารถผลิตได้เพียงพอหรือไม่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ หรือต้องส่งต่อไปยังจังหวัดอื่น ซึ่งส่วนนี้จะเป็นบทบาทของศึกษาธิการภาคที่ต้องบูรณาการหลายจังหวัดในเชิงภูมิภาคปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวและว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนงานในระดับจังหวัดและในเชิงพื้นที่ที่จะพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้นโจทก์ในวันนี้จึงมองว่า เมื่อศึกษาธิการจังหวัดศึกษาธิการภาคเป็นโซ่ข้อกลางแล้วเยาวชนไทยในอีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าจะมีหน้าตาอย่างไร มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตร หรือ ภาคเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งเป็นการมองอนาคตของโลก ภายใต้ภารกิจของศึกษาธิการภาคศึกษาธิการจังหวัด

ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ปัญหาภายในประเทศ คือ ปัจจุบันอัตราการเกิดตั้งแต่ปี 2564 ลดลงอย่างมาก ขณะที่สัดส่วนผู้สูงวัยมีมากขึ้นโดยมีมากถึง 12% จากประชากร 66 ล้านคน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำเสนอโครงการอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.)เป็นมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่จะนำกลุ่มข้าราชการเกษียณไม่ว่าจะเป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่มีศักยภาพเข้าไปทำงานในเชิงพื้นที่ในหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีหมู่บ้านอยู่ประมาณ 75,000 หมู่บ้านก็จะมี อส.ศธ. 75,000 คน โดย อส.ศธ.จะทำงานลักษณะคล้ายกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) โดย อสม. จะทำงานเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพแต่ อส.ศธ.จะดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต เช่น แก้ปัญหา learning loss แก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนซึ่งมีมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ  เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องความยากจน ซึ่งไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาก่อนย้ายถิ่นฐานตามครอบครัว ดังนั้นเมื่ิอศึกษาธิการจังหวัดได้ อส.ศธ.ในแต่ละพื้นที่แล้ว อส.ศธ.ต้องลงพื้นที่ ศึกษาธิการจังหวัดจะต้องเป็นโซ่ข้อกลางในการนำข้อมูลมาใช้ติดตามเยาวชน และในระหว่างศึกษาหากเด็กสนใจเรื่องอาชีพศึกษาธิการจังหวัดก็ต้องส่งไม้ต่อไปที่วิทยาลัยการอาชีพที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้มีเป้าหมายที่สำคัญของภารกิจของ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด คือเรื่องของคุณภาพชีวิตของคน ลดความเหลื่อมล้ำลง โดยมี อส.ศธ.ช่วยดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วย

5 2 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments