วันที่ 23 มีนาคม 2566  ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)เป็นประธานเปิดงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการของนักศึกษา สาขาวิชาช่างอากาศยาน โดยมีนางปัทมา วีระวานิช ที่ปรึกษาการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา และผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ครู นักศึกษาอาชีวศึกษา พร้อมด้วยนาวาอากาศตรีบัญชา ชุนสิทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนฯ (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน นายนราธิป นเรศเสนีย์ หัวหน้างานตรวจสอบและรับรองคุณภาพหน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายทนงชาย เจษฎารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด เข้าร่วมงาน ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ

ดร.นิติ กล่าวว่า ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) มีนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยเชื่อมโยงกับผู้บริหารระดับสูงในอดีตร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างนักศึกษาอาชีวะให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ส่งผลให้สาขาวิชาช่างอากาศยาน เป็นสาขาที่โดดเด่น และเป็นที่ไว้วางใจของสถานประกอบการ โดยเฉพาะสถานประกอบการชั้นนำด้านการบินที่มีความสนใจ และสนับสนุนนักศึกษาอาชีวะสาขาวิชาช่างอากาศยาน เข้ารับการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ จึงเป็นการเน้นย้ำการพัฒนาการอาชีวศึกษา พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการจัดระบบและกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในรูปแบบทวิภาคีที่ชัดเจน และถือได้ว่า สอศ.ได้ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้ส่งนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) ตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้สำหรับสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองว่าในส่วนของการฝึกปฏิบัติงาน จำนวน 50%-40% จาก 2,400 ชั่วโมงเรียน และอย่างน้อย 30% ต้องดำเนินการในการปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง (Actual Maintenance Working Environment) ภายในสถานประกอบการ ส่งผลให้นักศึกษาอาชีวศึกษาที่จบหลักสูตรสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สาขาวิชาช่างอากาศยาน ร่วมกับ อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน และสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชา


ดร.นิติ กล่าวว่า สอศ. มีวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาช่างอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ซึ่งในปีการศึกษา 2565 ได้จัดส่งนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างอากาศยาน จำนวน 41 คน พร้อมทั้งครูผู้ควบคุม 14 คน เข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการจำนวน 2 แห่ง คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานระดับโลกและเป็นศูนย์ฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง (Maintenance Experience) ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รวมจำนวนชั่วโมงฝึกของนักศึกษา 620-630 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่กำหนดไว้ 600 ชั่วโมง  ในโอกาสนี้ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นๆในเครือ ด้านการสรรหาทรัพยากรบุคคล จะได้เปิดรับนักศึกษาอาชีวะทั้ง 41 คน ที่เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพเพื่อเข้าทำงานทันทีหลังจบการศึกษา

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments