เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ โรงแรมบียอนด์สวีท กรุงเทพฯ ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย ดร.อรรถพล กล่าวว่า ตลอดชีวิตราชการที่ผ่านมา ตนเห็นความสำคัญของการวิจัยและยึดงานวิจัยเป็นหลักในการทำงานมาตลอด ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก หรือในภาพรวมประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้การวิจัยเป็นหลักในการทำงาน โดยมีโอกาสได้หารือกับนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ การที่ระบบการศึกษาประเทศฟินแลนด์มีคุณภาพได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรครูที่มีคุณภาพและครูในฟินแลนด์จะต้องมีวุฒิปริญญาโทเป็นอย่างน้อย เหตุผลสำคัญคือการจบการศึกษาระดับปริญญาโทจะต้องผ่านงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยเฉพาะบุคคล วิจัยด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัยความต้องการทางการศึกษาของเด็กแบบรายบุคคล เพื่อสามารถใช้งานวิจัยมาจัดการพัฒนาการของเด็กให้มีคุณภาพได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่างานวิจัยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากงานวิจัยนั้นเป็นฐานในการช่วยในการจัดกระบวนการคิดในเชิงระบบได้ ซึ่งในการออกแบบนวัตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจำเป็นจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบุคคล หรือแม้กระทั่งการออกนโยบายด้านการศึกษาของ สป.ศธ.เอง ก็ต้องใช้ฐานของงานวิจัยเป็นหลักในการอ้างอิง หากเราไม่ให้ความสำคัญกับหลักการเชิงวิทยาศาสตร์หรือผลงานวิจัยเหล่านี้ ก็จะทำให้การพัฒนาการศึกษาของประเทศเป็นไปแบบไร้ทิศทางได้
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา ได้พยายามผลักดันให้แผนการศึกษาแห่งชาติ อันเป็นแผนที่ได้มาจากการวิเคราะห์ วิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้มีโอกาสขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนฯ โดยเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และยังไม่สามารถนำแผนการศึกษาไปขับเคลื่อนได้ ซึ่งหากไม่มีการนำแผนการศึกษาแห่งชาติมาขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมแล้ว อาจทำให้การปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวได้ เนื่องจากสิ่งที่เราต้องการคือผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย
“เนื่องจากวิทยาการด้านการศึกษาในโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่าเป็นยุคของ VUCA World ซึ่งเป็นสภาวะความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน ยุ่งเหยิง ของ Digital Disruption ที่นักวิทยาศาสตร์และผู้นำโลกไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิด ซึ่งจากผลงานวิจัยของนักพฤติกรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าโลกของเราปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานการณ์ VUCA World อย่างเดียวแล้ว แต่ได้ก้าวเข้าสู่ยุค BANI World (Nonlinear) คือ เปราะบางและคาดการณ์ไม่ได้ ทั้งในด้านอาชีพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา รูปแบบในด้านการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบการศึกษาที่เห็นได้ชัดคือ การเรียนในรูปแบบออนไลน์ที่เป็นที่ยอมรับกันมากยิ่งขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเป็นที่นิยมในอนาคต มีการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาออนไลน์ ไม่เพียงแต่ระบบการศึกษาเท่านั้น แนวโน้มของอาชีพในโลก Digital ผ่าน Platform ต่าง ๆ ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น สวนทางกับการให้ความเชื่อมั่นในระบบอาชีพราชการที่นิยมน้อยลง โดยมีปัจจัยเรื่องรายได้ที่เป็นแรงจูงใจและส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนผ่านทางโลกออนไลน์มากขึ้น” ดร.อรรถพล กล่าว
ปลัด ศธ. กล่าวด้วยว่า จากนี้ไป ขอให้ สป.ศธ. และคณะกรรมการ ววน. เน้นขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้สู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนเพื่อการแข่งขันและมีงานทำ พร้อมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุค VUCA World หรือให้ถูกต้องจริง ๆ ต้องเป็นโลกยุค BANI World ที่รวมเอา VUCA World, Digital Disruption, สังคมสูงวัย และโรคอุบัติภัยใหม่ ๆ เข้าด้วยกัน เป็นโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความกังวล เข้าใจได้ยาก และไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเฉพาะสังคมสูงวัย ซึ่งจากผลการวิจัยเมื่อช่วงต้นปี 2566 ประเทศไทยจะมีค่าเฉลี่ยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 22 % หรือประมาณ 15 ล้านคน แต่ยังไม่ประกาศเป็นประเทศสังคมสูงวัย ซึ่งอีกไม่กี่ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 28 % (แตกต่างจากประเทศใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีผู้สูงอายุเพียง 7-8% แต่ได้ประกาศตัวเป็นประเทศสังคมสูงวัย พร้อมทั้งมีการตื่นตัวหารแนวทางรองรับไว้แล้วในทุกด้าน) ถือเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าประเทศไทยจะเผชิญปัญหาหนัก เพราะฉะนั้น ศธ. โดยเฉพาะ สป.ศธ. ต้องเป็นหน่วยงานกลางคอยประสานสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยหาแนวทางเตรียมรับมือปัญหานี้ในทุกด้านต่อไป”