เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ. ให้ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบ Zoom Meetings และประชุมการนำเสนอผลการปฏิบัติงานของศูนย์การศึกษาพิเศษที่มีผลต่อการลดลงของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ผ่านระบบ Zoom Meetings โดยมีนางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้อำนวยการกลุ่มที่รับผิดชอบ ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้แนวทางกระบวนการการพัฒนา การให้ความรู้กับครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินและคัดกรอง พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อลดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา/ประจำจังหวัด ได้นำเสนอวิธีการและแนวทางการพัฒนาให้ความรู้ครู และผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ในการประเมินและคัดกรองเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และแนวทางการประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อร่วมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงพื้นที่นิเทศ ติดตาม พร้อมทั้งให้คำปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้สามารถพัฒนาเต็มตามศักยภาพด้วยวิธีการที่หลากหลาย ส่วนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดระนอง และศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ในปี 2565 มียอดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ลดลง จำนวน 50 คน โดยในปี 2564 มียอดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 1,557 คน และในปี 2565 ลดลงเหลือ 1,502 คน กรณีศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2565 มียอดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ลดลง จำนวน 133 คน โดยในปี 2564 มียอดจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 2,611 คน และในปี 2565 ลดลงเหลือ 2,478 คน

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดศรีสะเกษ นำเสนอจำนวนเด็กพิเศษ ในโปรแกรม Set และ IEP onlineมีการลดลงเทียบจากปี 2564 และปี 2565 มีจำนวนลดลง 1,885 คน โดยในปี 2564 มีจำนวน 16,962 คน และในปี 2565 มีจำนวนลดลง 15,041 คน ส่วน IEP online ที่ลดลง เพราะมีการตรวจแผน IEP โดยการตั้งกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย ศูนย์ /ศึกษานิเทศก์/ครูในโรงเรียน ตรวจสอบโดยการจัดทำแบบตรวจสอบโดยอนุมัติ แผนที่สอดคล้องกันตามองค์ประกอบและสมบูรณ์ที่สุด และตามงบประมาณ โดยไม่ลดงบประมาณจาก คนละ 2,000 บาท เพื่อกระจายให้เด็กได้รับทุกคน แต่เราจะให้เด็กได้รับสื่อและการสอนเสริมที่เหมาะสมที่สุด ดีกว่าจะไปกระจายให้เด็กทุกคนที่ส่งแผนมา

“ดิฉัน ได้เสนอแนะ ไปว่าจำนวนเด็กที่มีความบกพร่องการเรียนรู้ ไม่ควรเป็นยอดสะสมในแต่ละปีการศึกษา แต่ควรเป็นยอดจำนวนจริงของเด็กแต่ละระดับชั้น โดยแยกเด็กเข้าใหม่ออกจากเด็กที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ควรมีการพัฒนาครูให้มีองค์ความรู้ และสร้างเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และมีความสามารถในการประเมินและคัดกรองเด็กได้อย่างถูกต้อง ควรมีการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร ในเรื่องของการเติมความรัก ความเข้าใจของครูที่ดูแลเด็ก และให้พิจารณากิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาเด็กที่ได้รับการประเมินและคัดกรองว่าเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ว่ามีกิจกรรมใดที่ใช้พัฒนาแล้ว จะทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เทียม จนนำไปสู่เด็กปกติ”รองเลขาธิการกพฐ.กล่าว

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments