เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษานำเสนอ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนของประเทศไทยยังมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง เช่น ไม่มีการบูรณาการระหว่างองค์กรที่มีหน้าที่ต่างๆ ในระบบการศึกษา ขาดกลไกและนโยบายในการนำไปปฏิบัติ และยังไม่มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปขยายผลทั้งระบบการศึกษา จึงเห็นสมควรให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้กำหนดวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาภายในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คิดค้นและพัฒนาด้านนวัตกรรมการศึกษาและดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ในสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ประกาศจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมนำร่อง 6 จังหวัด และได้ดำเนินการในเบื้องต้นแล้ว

ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.)  สพฐ.กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่องก่อน 6 จังหวัด คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดศรีสะเกษ  ภาคกลาง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง ภาคใต้ ที่จังหวัดสตูล และภาคใต้ชายแดน รวม 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากหากบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป้าหมายพื้นที่นวัตกรรมที่ต้องการคือเรื่องของนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ซึ่งจะเพิ่มในเรื่องของความเป็นอิสระหรือการจัดการตัวเอง ส่วนกลาง ก็จะมาดูในเรื่องของข้อจำกัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารงานบุคคลงบประมาณ ขณะเดียวกันอีกเป้าหมายหนึ่ง คือการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่นวัตกรรม

ผอ.สนก.กล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 6 จังหวัด สรุปได้ว่า ตัวแทนภาคเหนือ ได้มีการกำหนดอัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เครือข่าย ความเหลื่อมล้ำ และเรื่องการใช้ภาษาไทย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการกำหนดภาพในอนาคต 10 ปี ของศรีสะเกษ ว่าในอนาคตของจังหวัดศรีสะเกษจะเป็นอย่างไร เช่น อยากให้เด็กศรีสะเกษ รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต มีทักษะอาชีพ ซึ่งจะมีแนวทางในเรื่องของการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ จังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนภาคกลาง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นเมืองชายแดน จะเน้นในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเรื่องการใช้ไอซีทีเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องการเรียนการสอนและต่อยอดไปถึงชุมชนในเรื่องของสินค้าโอทอป จังหวัดระยอง ตัวแทนภาคตะวันออกซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยองเป็นเรื่องของการสร้างเด็ก ตั้งแต่ชั้นม.4 ให้เป็น นักนวัตกร การเชื่อมโยงเรื่องของสถาบันอุดมศึกษา และใช้โมเดลของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งจะมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะจัดเด็กนักเรียนให้รองรับในเรื่องของอุตสาหกรรมของจังหวัด จังหวัดสตูล ตัวแทนภาคใต้ สตูลจะเป็นลักษณะของจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และตอนนี้สตูลได้นำร่อง 10 โรงเรียน โดยมีเครือข่ายเข้ามาช่วย คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย(สกว.)เข้าไปดูในเรื่องของหลักสูตรชุมชน โดยมีการสนับสนุน เช่นจะมีครู ผู้ปกครอง และท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองส่วนจะมาช่วยครูจัดการเรียนการสอน และดูเรื่องของสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดสตูล และจังหวัดสุดท้าย เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดนใต้ จึงได้กำหนดไว้ 3 จังหวัด โดยใช้ชื่อว่ากลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งส่วนนี้ได้ดำเนินการตามนโยบายของศธ. อยู่แล้ว จะเน้น เรื่องของความเหลื่อมล้ำในการสร้างคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของหลักสูตร เช่น หลักสูตรเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เด็กชายแดนใต้มีคุณภาพการศึกษาดีขึ้น โดยในเดือนธันวาคมนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธาน กำกับดูแลเรื่องการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาคของศธ.จะลงไปติดตามพื้นที่นำร่องทั้ง 6 ภาค อีกครั้ง

/////////////////////////////

 

 

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments