เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการแข่งขันวิชาการด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ระดับนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 และการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้
ด้านวิทยาศาสตร์ สู่การต่อยอดระดับสากล (STEAMs Co-Creation Project) โดยมี ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธํารง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รวมถึงที่ปรึกษาและกรรมการ ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมถ์ ผู้บริหารและคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการแอสมอพส์ คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนนอกระบบ นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ
.
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า พิธีมอบรางวัลฯ ในวันนี้ เปรียบเสมือนการรวมตัวของนักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถในระดับชั้นนำของประเทศ ซึ่งกำลังจะได้รับการพัฒนาให้เติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่า และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ตนขอแสดงความชื่นชมนักเรียนทุกคนและขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ทำให้ภาพความสำเร็จในวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างงดงาม หากเปรียบน้อง ๆ นักเรียนทุกคนเป็นเสมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนต้องขอชื่นชมผู้ปกครองทุกท่าน ที่อยู่เบื้องหลังการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและบรรจงเลือกสรรพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต รวมถึงผู้บริหารและคณะครูทุกท่าน ทั้งที่อยู่ในห้องประชุมแห่งนี้และที่อยู่เบื้องหลังการรดน้ำ พรวนดินและใส่ปุ๋ย จนเมล็ดพันธุ์น้อย ๆ กลายเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง อีกทั้งคณะทำงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันตกแต่ง และฟูมฟักต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบใหญ่ กลายเป็นต้นไม้ที่สร้างร่มเงาให้กับผู้อื่นได้ ที่สำคัญที่สุด ตนขอชื่นชมนักเรียนทุก ๆ คน ในความพยายามและความมุ่งมั่น ที่นำพาตนเองมาสู่วันแห่งความสำเร็จวันนี้ได้
“ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อการศึกษา ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การเติบโตของต้นไม้ทุกต้นคงไม่หยุดยั้งแต่เพียงเท่านี้ แต่จะยิ่งออกดอก ออกผล และขยายเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้เติบโตและงดงามได้ต่อไป ดังบทประพันธ์กลอนของ มล.ปิ่น มาลากุล ที่ว่า ‘กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ออกดอกคราวไรงามเด่น การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม’ นั่นเองค่ะ” รมว.ศธ. กล่าว
.
ด้าน ดร.อัมพร กล่าวว่า โครงการแข่งขันทางวิชาการและการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ภายใต้การกำกับดูแลของ สพฐ. นั้น ประกอบด้วย “โครงการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ” ซึ่งได้รับเชิญจากคณะกรรมการการแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Mathematics Competition Committee) ให้ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ จึงมอบสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ดำเนินโครงการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนจากทุกสังกัดทั่วประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพและความสามารถของตนเอง ผ่านกระบวนการแข่งขันทางวิชาการ ระดับนานาชาติ ในรายวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โดยจำแนกกิจกรรมการแข่งขันในแต่ละปี ออกเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบแรก ระดับเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 เขต รอบสอง ระดับประเทศ จำนวน 39 ศูนย์สอบ และรอบสาม ระดับนานาชาติ โดยประเทศที่มีความพร้อมจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
.
สำหรับในปี พ.ศ. 2564 ได้ปรับเปลี่ยนการแข่งขันให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีผลการแข่งขัน แบ่งเป็น การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา (IMC : EMIC 2021) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 4 คน การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IMC : WYMIC 2021) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 8 คน และการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา (IMSO 2021) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 24 คน และล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 ยังคงใช้การแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ โดยมีผลการแข่งขัน ดังนี้ การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา (IMC : EMIC 2022) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 16 คน การแข่งขันคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (IMC : WYMIC 2022) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 16 คน และการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา (IMSO 2022) นักเรียนไทยได้รับรางวัล จำนวน 24 คน
และในส่วนของ “การแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์” ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สู่การต่อยอดระดับสากล (STEAMs Co-Creation Project) ตามที่ สพฐ. ได้อนุมัติให้ สนก. ดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การต่อยอดระดับสากล (STEAMs Co-Creation Projects) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมกับการจัดการศึกษาในระดับนานาชาติ อันแสดงถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ตามประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี พ.ศ. 2565 มีครูและนักเรียนส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าร่วมการแข่งขันจากทั่วประเทศ จำนวน 289 โครงงาน โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบ คือ รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค แบ่งเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และรอบตัดสิน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีตลอดระยะเวลาการศึกษา โดยผลการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2565 มีครูและนักเรียน ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลชนะเลิศ และเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ จำนวน 16 คน
.
“จากผลงานของนักเรียนและครูที่ผ่านมา กิจกรรมในวันนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่นักเรียนและครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 96 คน ซึ่งเป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้กับกระทรวงศึกษาธิการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้เข้ารับรางวัล พร้อมทั้งรับฟังโอวาทจากผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาตนเองอันนำไปสู่การต่อยอดด้านการเรียนและการปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
ขณะที่นายประพัทธ์ กล่าวว่า พิธีมอบรางวัลการแข่งขันวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติ (ASMOPSS 2022) นี้ โรงเรียนกวดวิชาบ้านพีระมิด ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 รวมระยะเวลา 10 ปี เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ผลการจัดการศึกษามีนักเรียนได้รับรางวัลจากการแข่งขันวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติ (ASMOPSS) ติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี และในปี พ.ศ. 2565 โรงเรียนกวดวิชาบ้านพีระมิดได้ร่วมกับ บริษัท ไมราห์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิการจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการ Asian Science and Mathematics Oylmpiad for Primary and Secondary Schools หรือ ASMOPSS ดำเนินการคัดเลือกและส่งนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2565 โดยมีนักเรียนจากทั้งประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสาธารณรัฐทาจิกิสถาน เข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนทักษะในศตวรรษที่ 21 และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันอีกด้วย โดยการดำเนินการจัดการแข่งขันครั้งนี้ มีนักเรียนที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวนทั้งสิ้น 32 คน ได้รับรางวัลจากการแข่งขัน 35 รางวัล ทั้งประเภทบุคคลและประเภททีม และในวันนี้มีนักเรียนมารับรางวัล จำนวน 29 คน