เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสถาพันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ(MOU)ระหว่าง นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดย นายธฤติ ประสานสอน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ(MOU)ทั้ง 4 หน่วยงาน ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะสถาบันพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ หรือ พว.ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมช่วยพัฒนาคุณภาพวิชาการเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง โดยวันนี้ทั้ง 3 องค์กรท้องถิ่นที่มีพลังมหาศาลได้มาร่วมขับเคลื่อนภารกิจการการพัฒนามนุษย์ทุกช่วงวัย ทุกมิติ 360 องศา ร่วมกับ พว. เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาเราเรียนแบบ Passive Learning แต่วันนี้ เราต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือ Active Learning ซึ่งต้องมีกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน
“กระทรวงศึกษาธิการจัดการเรียนการสอนมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่ทุกวันนี้การศึกษาไม่ใช่จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยงานเดียว แต่มีหลายหน่วยงานมาช่วยจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงกลาโหม เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะจัดการศึกษาให้กับคนในประเทศ”ผู้ตรวจราชการศธ.กล่าว
นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอฝากให้คิดกันว่า ความสุขของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการได้มาร่วมมือกันในวันนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตของเด็ก ๆ ที่จะมาบริหารประเทศ โดยสิ่งที่เราต้องการ คือ ต้องทำให้เด็กหรือวัยรุ่นมีคุณภาพที่ดี ซึ่งถ้าทำไม่สำเร็จประเทศก็มีโอกาสที่จะเสียโอกาสมาก เพราะฉะนั้นอยากฝากว่า วิชาการและการปฏิบัติต้องไปด้วยกัน และจากที่ได้ฟังแนวคิดของ ท่านรองนายกฯ ดร.วิษณุ ซึ่งมีความเข้าใจการศึกษาอย่างดี ก็อยากให้นำแนวคิดของท่านไปปฏิบัติในโรงเรียน โดยเราทั้ง 3 สมาคมคือ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุน เพราะเราเป็นหน่วยงานต้น ๆ ที่มีผลกระทบ ถ้าเราสร้างเด็กไม่มีคุณภาพก็จะทำให้ท้องถิ่นได้คนไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ประเทศพัฒนาได้ยาก ส่วนการเรียนรู้แบบ Active learning นั้น เชื่อว่าเป็นการเรียนการสอนที่มีทั้งวิชาการและกิจกรรมที่จะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียน และยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียน ซึ่งจะทำให้การศึกษาของประเทศประสบความสำเร็จได้
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหาร พว.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการคิดโครงการที่ยิ่งใหญ่เป็นการปูพื้นฐานให้ประชากรระดับเด็กเล็กซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะสมองของมนุษย์จะพัฒนาได้ดีที่สุดตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อยู่ในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก โดยความรู้ที่มนุษย์เอาไปใช้ได้จริง คือ ความรู้ด้านกระบวนการ ความรู้ด้านความคิดรวบยอด และความรู้ด้านหลักการ เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือการนำเนื้อหาสาระในแต่ละรายวิชามาออกแบบ เพื่อให้เด็กเข้าถึงกระบวนการด้านความคิดรวบยอดและหลักการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะสามารถสร้างงานหรือโครงงาน หรือนวัตกรรม และเชื่อมโยงกับการพัฒนาการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นหรือชุมชนได้ ซึ่ง พว. พร้อมที่จะช่วยดำเนินการอย่างเต็มที่
ด้าน ผศ.(พิเศษ)ดร.วีระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายกสมาคม อบจ. ว่า เด็กต้องมีความสุข ซึ่งการมาทำ MOU ครั้งนี้ นอกจากจะได้ถอดบทเรียนทางวิชาการให้เด็ก ๆ แล้ว หวังอย่างยิ่งว่า เด็กจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีระเบียบวินัย มีความเคารพ มีความอดทน และยังมีการสร้างเสริมกิจกรรมทางวิชาการเข้าไปด้วย ในที่สุดความรับผิดชอบต่อสังคมก็จะเกิดขึ้น โดยทางสมาคม อบต.มองว่า นอกจากเรื่องของวิชาการแล้ว พฤติกรรมและความรับผิดชอบจะต้องไปด้วยกัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนของชาติ