เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 245 เขต ทั่วประเทศ ว่า ขอให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทุกคน ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการเรียนการสอน แม้ปัจจุบันเราสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งในหลักสูตรนั้น กำหนดให้ผู้เรียนมี 5 สมรรถนะ คือ ความสามารถในการสื่อสาร, ความสามารถในการคิด ,ความสามารถในการแก้ปัญหา ,ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี แต่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ สามารถบอกได้หรือไม่ ว่า โรงเรียนในพื้นที่กี่แห่ง ที่มีหลักสูตรที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะทั้ง 5 ด้านนี้ได้ แล้วมีการบูรณาการจัดการเรียนการสอนอย่างไร หรือพูดกันแค่ในเอกสาร แต่ในความจริงการจัดการเรียนการสอนยังเหมือนเดิม ยังไม่เป็นรูปธรรม และครูมีความรู้ความเข้าใจ สามารถจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีสมรรถนะได้กี่คน ซึ่งตนมองว่า ถ้าเราวางแผนการจัดการเรียนการสอนไม่ได้ เราก็ไม่สามารถขับเคลื่อนงานในเขตพื้นที่ฯ ได้ ดังนั้น เขตพื้นที่ฯ จะต้องจัดทำแผนการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในยุคหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)
เลขาธิการกพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการบริหารงานบุคคล ขณะนี้เรามี คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศแล้ว จึงขอมอบหมายให้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการสำรวจอัตรากำลังในเขตพื้นที่ของตน ว่ามีโรงเรียนขาดแคลนครูกี่แห่ง เกินอัตรากี่แห่ง และวางแผนจัดอัตรากำลัง เพื่อให้มีอัตรากำลังเพียงพอและตอบโจทย์การศึกษาในพื้นที่ได้ โดยผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะต้องทำการสำรวจและจัดสรรข้อมูลอัตรากำลังคนให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้
“สิ่งที่ผมมีข้อห่วงใย คือ จะบริหารงาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ อย่างไรถึงจะประทับใจครู บริหารงานอย่างไรไม่ให้เกิดคำครหา เพราะวันนี้มีคนคอยจับตาเรื่องนี้อยู่ ทำดีแค่อยู่ตัว ทำผิดพลาดได้ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งแน่นอน อำนาจการบริหารงานบุคคลเคยไปอยู่ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพราะเหตุผลใด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทุกคนก็ทราบอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จึงอยากให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจกับ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ให้ดี ทุกวันนี้เราจะเห็นข่าวเกี่ยวข้องกับครู และนักเรียนเป็นประจำ ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ฯ จะรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผมทราบหลังจากเป็นข่าวแล้วเสมอ ไม่มีเขตพื้นที่ไหนรับรู้ปัญหาก่อนที่จะเป็นข่าวแม้แต่ครั้งเดียว ภัยต่างๆ เราห้ามไม่ได้ แต่เราสามารถบริหารจัดการได้ คือ ต้องมีมาตรการป้องกันให้เพียงพอ เมื่อเกิดเหตุต้องบริหารจัดการให้รวดเร็ว เข้าถึงปัญหาให้ไว จะระงับเหตุอย่างไร และควรช่วยเหลือเด็กอย่างรวดเร็ว“ ดร.อัมพร กล่าว