จากกรณีฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรวจสอบโรงเรียนเอกชนใน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และตรวจยึดบัตร ATM ที่ใช้คู่กับบัญชีเงินเดือนของครูในโรงเรียนได้จำนวน 23 ใบ โดยเป็นบัตร ATM ของครู 23 คน ซึ่งทางโรงเรียนยึดเอาไว้ จากนั้นได้จ่ายเงินเดือนให้ครูต่ำกว่ายอดจริงที่รัฐบาลอุดหนุนช่วยเหลือให้แก่ครูโรงเรียนเอกชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้มีรายรับไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งเบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งเดิมมีการโอนเงินให้แก่โรงเรียน เพื่อนำไปจ่ายให้ครูอีกทอดหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในปีก่อนๆพบว่า ผู็บริหารโรงเรียนจ่ายเงินเดือนครูไม่ครบ มีการหักไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง โดยอ้างว่านำไปใช้ในกิจการอื่นของโรงเรียนหรือนำไปจ้างครูเพิ่มเพราะครูไม่เพียงพอนั้น

วันนี้ (14 พ.ย.) นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า โรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนในระบบ ประเภทสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี  กรณีดังกล่าวโรงเรียนให้การยอมรับว่าได้ยึดบัตร ATM และสมุดบัญชีธนาคารของครูสอนวิชาสามัญจำนวน 26 คน เพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายเงินเดือนให้ครูในอัตราคนละ 7,000บาท ส่วนต่างอีกจำนวน 8,000 บาท ได้เอาไปเฉลี่ยเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับครูสอนศาสนาอีกจำนวน 28 คน โดยอ้างว่าครูผู้สอนวิชาสามัญทุกคนยินยอม สำหรับการจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยเดือนละ 2,500 บาท โรงเรียนแจ้งว่าได้จ่ายให้ครูที่มีสิทธิครบถ้วนตามที่ระเบียบกำหนด

นายชลำ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนจำนวน 286 คน เปิดสอนระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครู 54 คน สอนวิชาสามัญ 26 คน ครูสอนศาสนา 28 คน โดยโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในอัตรา ระดับก่อนประถมศึกษา 13,884.50 บาท/คน/ปี ระดับประถมศึกษา 13,584.50 บาท/คน/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 16,432.50 บาท/คน/ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 16,732.50 บาท/คน/ปี อย่างไรก็ตาม ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน เป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ. 2558 ไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินเดือนครูโดยตรง แต่ให้โรงเรียนดำเนินการจ่ายเงินเดือนครูจากเงินอุดหนุนรายบุคคล ซึ่งเงินเดือนครูดังกล่าวต้องจ่ายเป็นลำดับแรก ในอัตราคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายเป็นค่าพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ครุภัณฑ์ พัฒนาอาคารสถานที่และการดำเนินการของโรงเรียน และในการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของโรงเรียน ปรากฏว่าโรงเรียนมิได้เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจากผู้ปกครอง โดยได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคล จำนวน 4,607,976 บาท/ปี ซึ่งหากจ่ายเงินครูสอนวิชาสามัญจำนวน 26 คน ตามวุฒิการศึกษาที่ทางราชการกำหนด คนละ 15,000 บาท เป็นเงิน4,680,000 บาท/ปี

“กรณีดังกล่าวแม้จะเป็นการแก้ปัญหาในการบริหารเงินของโรงเรียน แต่ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ซึ่ง สช. จะดำเนินการสั่งการให้โรงเรียนแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบฯ โดยการพิจารณาสัดส่วนจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนให้เหมาะสมกับจำนวนเงินอุดหนุนที่ได้รับ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในทำนองเดียวกันนี้อีก อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงเรียนที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่ง สช.ได้ดำเนินการตรวจสอบการจ่ายเงินเดือนครูและเบี้ยเสี่ยงภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และจะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป”เลขาธิการกช.กล่าว

ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนรายหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า  ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไม่ถูกต้องทั้งหมด และเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทุจริต และเรื่องการยึดบัตรเอทีเอ็มของครูนั้น มีบางโรงเรียนที่ทำ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นการให้ข่าวของฝ่ายความมั่นคงในเรื่องนี้จึงเหมือนใส่ร้ายโรงเรียนเอกชนทั้งหมดให้ได้รับความเสียหาย

“จริง ๆ แล้ว การจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐ และวิธีการจ่ายเงินเดือนครู เงินอุดหนุนเข้ามา 15,000 บาทจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นค่าเงินเดือนบุคลากรประมาณ 8,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการ เราต้องเข้าใจส่วนนี้ ภาพรวมถ้ามองว่า 15,000 บาทก็จริง แต่ถ้าไปดูรายละเอียดการเบิกเงินอุดหนุน ก็จะพบว่ามันแยกเป็น 2 ส่วน คือเงิน 7,000 บาทเป็นค่าบริหารจัดการของโรงเรียน หากโรงเรียนจ่ายหมดเฉพาะแค่ครูที่บรรจุ ก็เกินยอดที่รัฐอุดหนุนแล้ว เพราะโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ชายแดนใต้มีครู 2 แบบ คือแบบที่บรรจุ กับแบบที่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งทางโรงเรียนต้องบริหารจัดการจากเงินอุดหนุนก้อนเดียวกัน”ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนรายหนึ่งกล่าวและว่า สมมติว่าเงิน 100 บาท ให้เป็นค่าจ้างครู 60 บาท ที่เหลือ 40 บาทเป็นค่าบริหารจัดการของโรงเรียน ส่วน 60 บาทก็จ่ายครูที่ได้รับการบรรจุเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจว่าโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 ระบบ คือครูสอนศาสนาและครูสายสามัญ โรงเรียนจ่ายเงินเดือนเฉพาะครูที่บรรจุคิดเป็นอัตราส่วนราวๆ 65% ของเงินอุดหนุนที่โรงเรียนได้รับทั้งหมด ส่วนครูที่ไม่ได้บรรจุ แต่เป็นพนักงานต่างๆ ก็ต้องเอาเงินสำหรับการบริหารจัดการมาจ่ายให้ การจ่ายตรงนี้ประมาณ 25-30% ก็เหลือประมาณ 15% จะเป็นค่าบริหารจัดการเช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงินที่ได้รับมา ซึ่งครูทุกคนที่เข้ามาสอนก็ทราบข้อมูลเป็นอย่างดี และก่อนที่จะรับครูเข้ามาสอนก็ได้พูดคุยกันตั้งแต่แรกแล้ว สภาพปัญหาแบบนี้ โรงเรียนอื่นๆ ก็เป็นเหมือนๆ กัน ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กก็ยิ่งลำบาก และต้องเข้าใจว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่มีมูลนิธิ กับโรงเรียนสอนศาสนาที่ไม่มีมูลนิธิ ก็จะได้รับเงินอุดหนุนต่างกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน  เขารู้ดีว่าเขาให้เงินอุดหนุนเท่าไหร่ ส่วนเงินเบี้ยเลี้ยงค่าเสี่ยงภัย เขาก็คิดจากจำนวนเด็ก คือเด็ก 30 คน ครูจะได้ค่าเสี่ยงภัย 1 คน ไม่ใช่ว่าครูที่สอนทางภาคใต้จะได้ค่าเสี่ยงภัยกันทุกคน ซึ่งโรงเรียนจะต้องเข้ามาบริหารจัดการกันเอง

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments