วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว อาคาร 1 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมลงนามพิธีบันทึกความร่วมมือ”โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข และอดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมเป็นเกียรติ นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวรายงาน และมีผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมสุขภาพจิต และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง ได้ให้ความสำคัญ เน้นย้ำด้านความปลอดภัยกับนักเรียน นักศึกษา ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ จากสถานการณ์การแผร่ระบาดของโรคโควิท 19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เรียนต้องปรับตัวกับสถานการณ์ทั้งการเรียนในรูปแบบออนไลน์ และออนไซด์ ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนการสอนตามสถานการณ์ เกิดความเครียด ความวิตก และเกิดความกดดัน การทำความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นการเปิดโอกาส ดูแล และป้องกันให้กับผู้เรียน ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ อาชีวะผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และต้องมีความรู้ มีความสามารถ มีทักษะ ที่สำคัญต้องมีสุขภาพจิตดีและเป็นคนดี จากความร่วมมือการดำเนินโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ ในวันนี้ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ของผู้เรียนอาชีวศึกษา รวมถึงครู บุคลากร ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลอยู่ใกล้ชิดผู้เรียน ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพทางสุขภาพจิตที่ทันต่อยุคสมัย และเกิดสุขภาพจิตใจที่มีคุณภาพที่ดี โดยส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการดูแลตนเอง ส่งเสริม ป้องกัน ด้านสุขภาพจิต การดูแลช่วยเหลือ และการติดตาม ซึ่งการที่มีสุขภาพจิตที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินชีวิต การบริหารสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ มีศักยภาพในการดูแลจิตใจตนเอง เกิดทัศนคติ เชิงบวก เกิดความสุขในชีวิต พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่พึ่งให้แก่สังคม เป็นจึงเป็นแรงผลักดันและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการไปพร้อมกัน โดยการดำเนินการครอบคลุมในสถานศึกษา สังกัด สอศ. และบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถานศึกษา ทุกแห่ง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพจิตในปี 2565 พบว่า วัยรุ่นและเยาวชน ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยต่ำที่สุด โดยในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดในระดับสูง มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มประชาชนวัยทำงานและวัยสูงอายุ ทั้งนี้ยังพบอีกว่า นักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด เพิ่มขึ้นตลอดช่วงอายุที่เป็นวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งหากเยาวชนไม่ได้รับการสร้างเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง อาจนำไปสู่ปัญหาทั้งกับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ การดูแล
ช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้และทักษะในการดูแลจิตใจตนเอง พร้อมกับการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเอง ร่วมไปกับการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น โดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทโดยตรงในการดูแลนักเรียนนักศึกษา ดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการจับมือร่วมกันดูแลนักเรียน นักศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษา ให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ลดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง พร้อมทั้งเติมความเข้มแข็งทางใจให้กับนักเรียน นักศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการดังกล่าวได้เป็นรูปธรรมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทุกแห่งทั่วประเทศมาแล้ว โดยได้มีการมอบหมายให้ศูนย์สุขภาพจิตและโรงพยาบาลหรือสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิตในพื้นที่ ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานการอบรมเพิ่มทักษะการให้คำแนะนำปรึกษา รับดูแลช่วยเหลือส่งต่อสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ พร้อมรายงานผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นักเรียนนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดแรงงาน ช่วยสร้างบุคลากรเฉพาะทางในสายอาชีพต่างๆ ภายใต้ความเข้มแข็งของร่างกายและจิตใจ โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ จะผลักดันการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้นักศึกษา ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่ง ทั้งนี้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ