เมื่อวันที่  8 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  กล่าวในการประชุมร่วมกับผู้บริหารการศึกษาจังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภู และ เลย ว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นนโยบายสำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคมที่มีความซ้ำซ้อน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่ต้นเหตุแต่เราก็เป็นกลุ่มที่ต้องตั้งรับ เพราะเราเป็นผู้ดูแลนักเรียน เยาวชน  เราต้องทำมากกว่าครูผู้สอน ผู้บริหารต้องประเมินพื้นที่ของตัวเองว่า อะไรที่เป็นกลุ่ม เสี่ยง กลุ่มเปราะบาง แล้วต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้ได้ และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรต้องช่วยกันคิดไม่ใช่ให้เรื่องจบที่โรงเรียน ผู้บริหารในพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมงอย่าให้รู้จากข่าวเราจะแก้ปัญหาได้ยาก เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

เมื่อเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้นกับเด็กจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และมีแผนเผชิญเหตุเตรียมไว้ แต่ถ้าเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดการแก้ปัญหาก็ต้องมีความฉับไว เขตพื้นที่การศึกษาต้องลงให้เร็ว และต้องช่วยเหลือในเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ทั้งโรงเรียน เด็กและครอบครัวโดยเร็ว เพื่อให้ความรุนแรงของแต่ละเหตุไม่มากและแก้ไขได้เร็ว ซึ่งได้กำชับให้ผู้บริหารในพื้นที่เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงกรณีโรคซึมเศร้าในเด็ก และปัญหาสังคมต่าง ด้วย ซึ่งพื้นที่และโรงเรียนจะทราบอยู่แล้วว่าครอบครัวไหนมีปัญหาเปราะบาง ก็ให้เฝ้าระวังและช่วยประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดูแลน้อง ให้สามารถเรียนหนังสือต่อไปได้และอยู่ในสังคมได้รมว.ศึกษาธิการกล่าว

..ตรีนุช กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องทรงผมของนักเรียนที่ได้ประกาศยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียนไปแล้วนั้น ตอนนี้ก็อยากให้ทุกโรงเรียนมีระเบียบทรงผมเป็นของตัวเอง โดยโรงเรียนไหนมีระเบียบอยู่ถ้าดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยน หรือถ้าอยากปรับเพื่อให้มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน สภาพพื้นที่วัฒนธรรม ความเป็นอยู่มากขึ้นก็สามารถทำได้ โดยให้กรรมการสถานศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้ความเห็นได้

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า วันนี้เราต้องมาถอดบทเรียนว่ามูลเหตุที่เกิดขึ้นคืออะไร เกิดจากกิจกรรมในหลักสูตร กิจกรรมนอกหลักสูตรหรือเรื่องการพัฒนานักเรียน วันนี้จึงขอให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาไปทบทวนดูว่าเรามีกิจกรรมอะไรบ้างที่ทำแล้วมีโอกาสเกิดความเสี่ยงอะไรบ้างและจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกอย่างไรก็ตามเท่าที่ทราบเหตุเกิดที่หนองบัวลำภู สื่อรู้เรื่องก่อน ดังนั้นเราต้องมีมาตรการเข้าถึงเหตุการณ์โดยฉับไวก่อนที่จะมีข่าวออกมา  ซึ่งผู้บริหารในการเขตพื้นที่ฯหรือทีมผู้บริหารต้องลงไปไม่ใช่รายงานกันทางโทรศัพท์ เราต้องมาถอดบทเรียน เราจะให้การศึกษาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่เราต้องเข้าถึงจิตใจของเด็กด้วย

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากจะมาติดตามเหตุการณ์เด็กที่ถูกไฟคลอกแล้ว ยังได้ไปดูเด็กที่โดดตึกซึ่งเกิดจากอาการซึมเศร้าด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่เราจะต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา  โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้รับนโยบายจากนางสาวตรีนุชให้ขอนแก่นเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยเรียนโดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาโดยจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสร้างแนวทางแก้ปัญหาและออกเอกซเรย์พื้นที่ทั้งหมดว่า มีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางเท่าไหร่นอกจากจะมีมาตรการและวิธีการเยียวยา รักษา ป้องกัน เพราะสุดท้ายเราไม่อยากให้เด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งตนคิดว่าจะมีปัญหามากขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราต้องสร้างเกราะป้องกันไว้ก่อน

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest

0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments