เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เป็นประธานเปิดกิจกรรรมการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิภาค : ภาคกลางและภาคตะวันออก จังหวัดกาญจนบุรี “ถิ่นวีรชนคนกล้า แหล่งรวมศรัทธาความดี ศรีรัตนโกสินทร์” ที่ โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้ฝากแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย ผ่านคลิปวิดีโอ โดยสรุป ได้ว่า การจัดการเรียนรู้ต้องให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสคิดวิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ โดยไม่ใช่การเรียนรู้แบบท่องจำ ทำให้ให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้น ด้วยการใช้ AR สื่อร่วมสมัย รวมถึงการเรียนรู้จากสถานที่จริง ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้กำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมให้เหมาะสมตามวัยของผู้เรียน และมอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปธรรม
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตนพร้อมด้วย คณะทำงาน One Team สพฐ. ตรวจเยี่ยมและเห็นกิจกรรมที่นำเสนอ ต้องขอชื่นชมเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อย่างขันแข็ง สร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นจริง ส่วนโรงเรียนก็สามารถนำเสนอผลงานดีเด่น Best Practices ได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่นักเรียนก็มีความภาคภูมิใจในความเป็นกาญจนบุรีท้องถิ่นของตนเอง นำเสนอนิทรรศการที่มีชีวิต ในรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้เห็นว่าได้รับการบ่มเพาะจากโรงเรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านแหล่งเรียนรู้ ที่ให้ทั้งเนื้อหาความรู้ และเติมเต็มคุณลักษณะอันพึงประสงค์ได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญทำให้เห็นถึงความเข้มแข็งของ One Team สพฐ. และทีมวิชาการรองเลขาธิการ กพฐ. ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้ถึงคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม
“อย่างไรก็ตามขอฝากข้อคิดไว้ว่า สิ่งสำคัญของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรังปรุง พ.ศ. 2560) ไม่ใช่แค่เพียงมาตรฐานและตัวชี้วัด แต่คือสมรรถนะสำคัญของนักเรียน นำไปสู่พฤติกรรมของนักเรียน พร้อมบ่มเพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้ง 8 ประการ ซึ่งทุกหน่วยงานของ สพฐ. ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่รวมถึงสถานศึกษา ควรจะช่วยกันดำเนินการให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะทำให้เรามองเห็นเรื่องราวหรือสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ว่าเราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ด้วยวิธีการใด ประวัติศาสตร์จึงเป็นบทเรียน สอนให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับความรักและความภาคภูมิใจในสิ่งต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษของเรามอบไว้ เล่าเรื่องราวให้ลูกหลานของเรา ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจต่อไปอย่างยั่งยืน”ดร.เกศทิพย์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ให้เข้าถึงใจนักเรียน และเกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ซึ่งทำให้เกิดอารยธรรรมอันดีงาม ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดึง soft power ที่เรามีออกมาใช้ สร้างคุณค่า ความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน โดยจัดหาสื่อฯ ที่เข้าถึงใจนักเรียน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปด้วยความสนุกสนาน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสามารถก้าวเข้าสู่สากลได้อย่างสง่างาม บนพื้นฐานของความเป็นไทย